วันจันทร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้พิจารณาวางแผนการทำงานและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งหลังจากการประชุม ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการแต่ละคณะ จัดลำดับเรื่องการปฏิรูปเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการ ทั้ง ๑๒ คณะ และให้นำส่งประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ภายในวันนี้ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปประเทศในวันพรุ่งนี้ เพื่อจัดทำภาพรวมการปฏิรูปประเทศ เสนอต่อรัฐบาล โดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว สำหรับประเด็นการปฏิรูปเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชน นั้น ประกอบด้วย
๑. ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และการขอแก้ไขพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์
๒. การศึกษาและข้อเสนอแนะร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ....
๓. การศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นข้อสังเกตการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....ของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน
๖ ประเด็น ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน มีมติในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. ชื่อร่างพระราชบัญญัติสอดคล้องกับเนื้อหาในบทบัญญัติหรือไม่ ซึ่งที่คณะกรรมาธิการฯ มีมติยืนยันชื่อร่างเดิม
๒. กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๔๑ ควรแก้ไขปรับปรุง จากปลัดกระทวงทั้ง ๔ กระทรวง คือ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการอื่นที่สรรหามาจากภาครัฐ หรือผู้แทนจากกระทรวงนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องระบุให้เป็น
ปลัดกระทรวง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีมติให้กรรมาธิการไปศึกษาเพิ่มเติม และนำมาเสนอในที่ประชุม ต่อไป
๓. ลดจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพที่เป็นตัวแทนภาครัฐในคณะกรรมการ ให้มีสัดส่วนน้อยลง โดยเน้นให้มาจากภาคสื่อมวลชนหรือภาคประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีมติให้กรรมาธิการไปศึกษาเพิ่มเติม และนำมาเสนอในที่ประชุม ต่อไป
๔. ปรับปรุง แก้ไขบทบัญญัติในมาตรา ๘๕ ที่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายจากกรณีได้รับผลกระทบจากสื่อ สามารถเลือกใช้สิทธิ์ร้องเรียนต่อสภาวิชาชีพ หรือใช้สิทธิทางศาล ทางหนึ่งทางใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการร้องเรียนต่อ
สภาวิชาชีพสื่อเสียก่อน ซึ่งที่ประชุม ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และมีมติให้นักกฎหมาย
เขียนให้ตรงกับเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการฯ
๕. ใบอนุญาตควรพิจารณาจะนำมาใช้กับสื่อมวลชนหรือไม่ หรือควรจะพิจารณาในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในลักษณะใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะสื่อมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนองค์กรวิชาชีพอื่น ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ จะไป
ศึกษาเพิ่มเติม และนำมาเสนอในที่ประชุม ต่อไป
๖. บทบัญญัติต่าง ๆ ในร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ควรระมัดระวังกรณีที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่
การขัดแย้งในตัวของบทบัญญัติตามมาตราต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาอีกครั้ง |