|
|
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 143 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันที่ 24 พ.ย. 2564
|
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 143 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ย. 2564 เวลา 13.30 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย 1) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา 2) นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ 3) นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมกลุ่มอาเซียน+3 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 143 ในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุม 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ไทย และเวียดนาม โดยมีรัฐสภาเวียดนามทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ 1. การรับรองรายงานการประชุมกลุ่มอาเซียน+3 ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 ซึ่งรัฐสภาไทยเป็นผู้จัดทำ ซึ่งที่ประชุมรับรองโดยไม่มีการแก้ไข 2. การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ว่างในกรอบการประชุมต่างๆ ของสหภาพรัฐสภา ซึ่งไม่มีประเทศใดเสนอชื่อผู้แทน ในขณะที่อินโดนีเซียแสดงความประสงค์ในการเสนอชื่อผู้แทนสมัครในตำแหน่งคณะกรรมาธิการว่าด้วยปัญหาตะวันออกกลาง (Committee on Middle east Questions) ซึ่งเป็นตำแหน่งส่วนบุคคล และจะมีการเลือกตั้งในการประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) โดยประเทศสมาชิกทั้งหมด 179 ประเทศ 3. การส่งมอบตำแหน่งประธานกลุ่มอาเซียน+3 ให้แก่คณะผู้แทนรัฐสภากัมพูชา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานกลุ่มอาเซียน+3 ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ การประชุมกลุ่มอาเซียน+3 เป็นการประชุมของกลุ่มอนุภูมิภาคในกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก มีประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นบรูไน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา ร่วมด้วยประเทศนอกกลุ่มอีก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมติที่ประชุมให้นำการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เสนอต่อที่ประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก เพื่อพิจารณาและรับรองต่อไป
ต่อมา เวลา 15.00 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ทั้ง 3 คน เข้าร่วมการประชุมกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 143 ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาจาก 7 ประเทศเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ เกาหลีใต้ กัมพูชา อินโดนีเซีย อินเดีย มองโกเลีย ไทย และเวียดนาม โดยรัฐสภาเกาหลีใต้ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระสำคัญในการพิจารณา ดังนี้ 1. การรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) สหภาพรัฐสภาในสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีผู้แทนจาก 3 ประเทศดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ไทย จีน และปากีสถาน ในโอกาสนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารของสหภาพรัฐสภาจากรัฐสภาไทย กล่าวรายงานสาระสำคัญที่คณะกรรมการบริหารได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การพิจารณาร่างยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภาฉบับใหม่ (พ.ศ. 2565 - 2569) การบรรลุเป้าหมายการขยายสมาชิกภาพของสหภาพรัฐสภาให้ครอบคลุมทั่วโลก การพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิก และการพิจารณางบประมาณของสหภาพรัฐสภาประจำปี พ.ศ. 2565 2. การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ว่างในกรอบการประชุมต่างๆ ของสหภาพรัฐสภา ซึ่งรัฐสภามองโกเลียแสดงความประสงค์เสนอชื่อผู้แทนในตำแหน่งคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau of Women of Parliamentarians) และที่ประชุมได้รับทราบความประสงค์ของอินโดนีเซียที่สมัครเลือกตั้งในตำแหน่งคณะกรรมาธิการว่าด้วยปัญหาตะวันออกกลาง (Committee on Middle east Questions 3. การพิจารณาตำแหน่งประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ในลำดับถัดไป ซึ่งยังไม่สามารถขอข้อยุติได้ รัฐสภาเกาหลีใต้จึงทำหน้าที่ดังกล่าวต่อและจะต้องประสานกับประเทศที่มีความพร้อมรับตำแหน่งต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 143 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 30 พ.ย. 64 ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งคณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภามีมติงดส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอยู่ในช่วงเปิดสมัยประชุม
เครดิต : ภาพและข่าวโดยกลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|