|
|
ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จากนายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค
วันที่ 15 มิ.ย. 2565
|
วันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 13.20 นาฬิกาณ จุดให้สัมภาษณ์ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จากนายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ได้ร่วมลงรายชื่อทั้งหมด 182 รายชื่อ
ในการนี้ นายชวน หลีกภัย กล่าวว่า จะรับญัตติดังกล่าวไปพิจารณาภายใน 7 วัน ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็ต้องมีการแก้ไข โดยทั่วไปจะมีปัญหาเรื่องของลายมือชื่อประมาณ 2 - 3 ท่าน ที่ไม่ตรงกัน ส่วนข้อความก็เป็นเรื่องของการไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ สภาได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีประสบการณ์และทราบดีว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร โดยปกติจะให้เวลาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ จะได้ส่งญัตติไปยังรัฐบาลและหารือว่าช่วงเวลาใดที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ยังพิจารณาค้างอยู่ ซึ่งหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. 65 ก็จะขอให้มีการประชุมเป็นพิเศษในวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 65 และวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. 65 เพื่อพิจารณา พ.ร.บ. ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยหากพิจารณาเสร็จสิ้นภายในวันที่กำหนดก็จะได้นำกฎหมายในลำดับถัดไปที่บรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมมาพิจารณาต่อไป ด้านนายชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ ได้ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน การจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมาตรฐานจริยธรรม การปล่อยปละละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริตเพื่อให้เกิดการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำลายผู้เห็นต่าง การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นผู้ปล่อยปละละเลยทำให้มีการทำลายระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา 2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และปล่อยปละละเลยให้มีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและทุจริตคอร์รัปชัน 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่อง และมีการสนับสนุนหรือทำให้เกิดกระบวนการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา 4. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ การจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เอื้อประโยชน์และสนับสนุนให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ 5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ ขาดธรรมาภิบาล และบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด บกพร่อง ล้มเหลว 6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ และใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด บกพร่อง ล้มเหลวอย่างร้ายแรง ปล่อยปละละเลยให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทำให้ประเทศชาติเสียหาย เป็นผู้มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงไปในทางขาดมาตรฐานจริยธรรม และมีความเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี 8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ ล้มเหลว ไร้ความรู้ ความสามารถในการดูแลงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้พี่น้องประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยและเสียโอกาสในการดำรงชีพอย่างมีความสุข 9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ในหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องและภาคเอกชน ไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไร้ความรู้ ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ และไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ และแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ 11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีข้อกล่าวหาที่จะอภิปราย อาทิ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ และแสวงหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแรงงาน |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|