สมาคมเลขาธิการรัฐสภา (Association of Secretaries General of Parliaments - ASGP)
๑. ประวัติโดยสังเขป
สมาคมเลขาธิการรัฐสภาจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมสหภาพรัฐสภาปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีผู้แทนจาก ๒๐ ประเทศเข้าร่วมประชุม และจากการประชุมดังกล่าวได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวัตถุประสงค์และข้อเสนอแนะของสมาคมฯ คณะอนุกรรมการได้เริ่มการประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ และต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีการร่างธรรมนูญและระเบียบ ข้อบังคับของสมาคมฯ รวมทั้งวัตถุประสงค์และขอบเขตของการดำเนินงานของสมาคมฯขึ้น หลังจากนั้นในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ สมาคมฯ ได้เปิดการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยที่ประชุมได้ให้การรับรองธรรมนูญของสมาคมซึ่งมีชื่อว่า หน่วยอิสระของเลขาธิการรัฐสภา (Autonomous Section of Secretaries General of Parliaments) ในเวลาต่อมา สมาชิกของสมาคมฯ มีความเห็นว่าชื่อของสมาคมฯ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมฯ กับสหภาพรัฐสภา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสมาคมฯ ซึ่งได้แยกกันอย่างเด็ดขาดจากสหภาพรัฐสภา ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้มีการประชุมพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานของสมาคมฯ ใหม่ รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนชื่อของสมาคมฯ จากเดิมมาเป็นสมาคมเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบันของสมาคมฯ
๒. การดำเนินงาน
สมาคมเลขาธิการรัฐสภาเป็นองค์กรความร่วมมือของเลขาธิการรัฐสภานานาชาติซึ่งมีภารกิจที่สำคัญคือ การเรียนรู้กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และกระบวนการของรัฐสภา การพัฒนาระบบรัฐสภาให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบรัฐสภาแก่บุคลากรในวงงานรัฐสภาและสาธารณชนทั่วไป และการให้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาด้วยกัน การดำเนินงานที่สำคัญของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาคือ การแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับรัฐสภา นานาประเทศ และจัดทำเอกสารความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและรัฐสภา โดยมีลักษณะเป็นกึ่งรายงานการศึกษา ซึ่งจะเป็นเอกสารพื้นฐานของการค้นคว้าด้านรัฐสภาศึกษาในขั้นสูงต่อไป
๓. การจัดทำรายงาน (Reports) และการนำเสนอประเด็นอภิปราย (Communications)
๓.๑ การจัดทำรายงาน (Reports)
- การจัดทำรายงานเสนอต่อสมาคมเลขาธิการรัฐสภา จะเริ่มจากผู้เสนอรายงาน (Rapporteur) จากประเทศสมาชิกเสนอหัวข้อเรื่องให้คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบกับหัวข้อเรื่องที่จะจัดทำรายงานก่อน
- เมื่อคณะกรรมการบริหารให้ความเห็นชอบ และสมาคมเลขาธิการรัฐสภาให้การรับรองกับหัวข้อการทำรายงานแล้ว หัวข้อเรื่องสำหรับการจัดทำรายงานจะบรรจุอยู่ในระเบียบวาระสำหรับการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาในครั้งต่อไป
- ผู้เสนอรายงานจะจัดเตรียมบทนำเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวพร้อมทั้งร่างแบบสอบถาม (Draft Questionnaire) ซึ่งจะส่งเวียนให้กับสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อพิจารณาก่อนการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาครั้งต่อไปจะเริ่มขึ้น
- ในระหว่างการประชุมฯ ผู้เสนอรายงานจะนำเสนอหัวข้อการจัดทำรายงานและสมาชิกสมาคมเลขาธิการรัฐสภาที่เข้าร่วมการประชุมฯ จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากรัฐสภาของตน เมื่อเสร็จสิ้นการอภิปรายแล้ว สาระสำคัญของแบบสอบถามดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากที่ประชุม (หมายเหตุ : ระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับแบบสอบถามดังกล่าว ประธานในที่ประชุมอาจเสนอให้คณะกรรมการยกร่าง (Drafting Committee) ยกร่างทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้)
- ภายหลังการประชุมดังกล่าว เลขานุการร่วม (Joint Secretaries) จะส่งแบบสอบถามดังกล่าวให้แก่สมาชิกสมาคมเลขาธิการรัฐสภา โดยเลขาธิการรัฐสภาของแต่ละรัฐสภาจะส่งคำตอบกลับไปยังผู้เสนอรายงาน ซึ่งจะได้ดำเนินการจัดทำ ร่างรายงานฉบับแรก (First Draft Report) ต่อไป ซึ่งร่างรายงานฉบับแรกนี้ จะจัดส่งให้แก่สมาชิกสมาคมเลขาธิการรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งจะมีการอภิปรายและแก้ไขโดยสมาชิกฯ ในการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาครั้งต่อไป
- ในระหว่างการดำเนินการอภิปรายร่างรายงานฉบับแรกนี้ ผู้เสนอรายงานจะจัดเตรียมร่างรายงานฉบับที่สอง (Second Draft Report)ซึ่งจะนำส่งให้แก่สมาชิกของสมาคมฯ เพื่อพิจารณาในการประชุมฯ ครั้งต่อไป ซึ่งในการพิจารณาร่างรายงานฉบับที่สองนี้ โดยทั่วไปถือว่าเกือบสมบูรณ์แล้ว โดยที่ประชุมจะแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย รวมทั้งจะพิจารณาจากคำตอบจากการตอบแบบสอบถามที่ส่งกลับมาด้วย
- หลังจากร่างรายงานฉบับที่สองผ่านการแก้ไขเพิ่มเติม และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาแล้ว จะนำไปตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมชื่อ Constitutional and Parliamentary Information ซึ่งมีกำหนดการตีพิมพ์ ปีละ ๒ ครั้ง โดยเนื้อหาในเล่มจะเกี่ยวกับบทความด้านกฎหมายและพัฒนาการล่าสุดในวงการรัฐสภา โดยส่วนที่เป็นรายงานทั้งหมดจะนำมาตีพิมพ์ในวารสารนี้
๓.๒ การนำเสนอประเด็นอภิปราย (Communications)
- ในการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาแต่ละครั้ง สมาคมเลขาธิการรัฐสภาจะมีแบบฟอร์มสำหรับสมาชิกที่ต้องการนำเสนอประเด็นอภิปราย (Communications) ต่าง ๆ โดยเฉพาะพัฒนาการล่าสุดในรัฐสภาของตนต่อที่ประชุม ซึ่งสมาชิกที่ต้องการเสนอประเด็นอภิปรายต่อที่ประชุมดังกล่าว จะต้องระบุหัวข้อเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมลงในแบบฟอร์มดังกล่าว แล้วส่งกลับให้ทางสมาคมเลขาธิการรัฐสภาก่อนการประชุมฯจะเริ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ในทางปฏิบัติ จากนั้นคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)ของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาจะทำการพิจารณาว่าเรื่องใดสมควรบรรจุอยู่ในวาระการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งการพิจารณาหัวข้อเรื่องดังกล่าวจะมีขึ้นในวันแรกของการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภา
- บทสรุปการนำเสนอดังกล่าวจะอยู่ในรายงานการประชุมและตีพิมพ์ในวารสาร Constitutional and Parliamentary Informationของสมาคมฯ
๔. โครงสร้างและระบบงาน
โครงสร้างของสมาคมเลขาธิการรัฐสภา ประกอบด้วย ที่ประชุมประจำปี (General Assembly) และคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) โดยมีประธานสมาคมเลขาธิการรัฐสภาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ในคณะกรรมการบริหารยังมีรองประธานสมาคมฯ อีก ๒ คน กรรมการบริหาร ๘ คน และผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ ซึ่งเป็นสมาชิกหรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ การประชุมประจำปีของสมาคมฯ จะประชุมพร้อมกับการประชุมสหภาพรัฐสภาปีละ ๒ ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ ในราวเดือนมีนาคมหรือเมษายน และครั้งที่สองเป็นการประชุมประจำฤดู-ใบไม้ร่วง ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม
ประธานของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาคนปัจจุบัน คือ Dr. Hafnaoui Amrani เลขาธิการสภาที่ปรึกษาแห่งชาติแอลจีเรีย ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี (ฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. ๒๕๕๔)
๕. ประเทศสมาชิก
สมาคมเลขาธิการรัฐสภา ประกอบด้วย เลขาธิการรัฐสภา และรองเลขาธิการรัฐสภา ในกรณีที่เลขาธิการรัฐสภาหรือรองเลขาธิการรัฐสภาไม่สามารถเข้าร่วมในการดำเนินงานต่างๆ ของสมาคมฯ โดยตรงหรือโดยอ้อมได้ สมาคมฯ อาจจะพิจารณารับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐสภาที่เลขาธิการรัฐสภานั้นเสนอเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้ แต่ทั้งนี้ แต่ละสภาจะมีผู้แทนซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฯ พร้อมกันได้ไม่เกิน ๒ คน
ในปัจจุบัน สมาคมเลขาธิการรัฐสภามีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๓๒ ประเทศ โดยทุกประเทศในอาเซียนเป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั้งสิ้น ยกเว้นบรูไนดารุสซาลาม และสหภาพพม่า ส่วนประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ล้วนเป็นสมาชิกสมาคมฯ เช่นกัน
๖. เงินค่าบำรุง
ประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินค่าบำรุงสมาคมเลขาธิการรัฐสภาเป็นจำนวนเงิน ๔๐๐ สวิสฟรังก์ ต่อปี โดยการโอนเงิน (credit transfer) เข้าบัญชีสมาคมเลขาธิการรัฐสภา
๗. ข้อบังคับ
ข้อบังคับของสมาคมฯ มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภา ประจำฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๒๙ เมษายน ๔พฤษภาคม ๒๕๕๐ ซึ่งมีทั้งหมด ๓๒ ข้อ โดยในแต่ละหมวดระบุถึงวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ องค์ประกอบและโครงสร้างของสมาคม ฯ การประชุมคณะกรรมการบริหาร วิธีการออกเสียงลงคะแนน การจัดทำรายงานการประชุม ภาษาที่ใช้ งบประมาณ การแก้ไขกฎของสมาคมฯ และบทเฉพาะกาล