สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (Asian - Pacific Parliamentarians Union)
สมาชิกพรรคลิเบอรัลเดโมแครท (Liberal Democrat) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น มีนาย Nobusuke Kishi เป็นหัวหน้า ได้ริเริ่มจัดตั้งสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย โดยได้เชิญสมาชิกรัฐสภาจากบรรดาประเทศในเอเชียมาร่วมประชุมปรึกษาหารือที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ และ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ประเทศที่ส่งสมาชิกรัฐสภาไปร่วมประชุม ได้แก่ ประเทศไทย ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เวียดนาม สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ให้เอกอัครราชทูตของตนที่ประจำประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือครั้งนี้ ในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงในหลักการที่จะจัดตั้งสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย (Asian Parliamentarians Union) ขึ้น และได้วางมาตรการเบื้องต้น พร้อมทั้งร่างกฎบัตรของสหภาพฯ เพื่อมอบให้ผู้แทนของแต่ละประเทศที่ได้เข้าร่วมประชุมนำเรื่องกลับไปหารือกับรัฐสภาของตนเสียก่อน ต่อมาในคราวประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๑ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎบัตรอีกครั้งหนึ่ง และได้รับรองให้ใช้เป็นกฎบัตรของสหภาพฯ ต่อไป ในการประชุมคณะมนตรีสหภาพฯ ครั้งที่ ๑ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๓๐ และ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพฯ อย่างไรก็ดีในการประชุมของสหภาพฯ ครั้งต่อมาได้มีการแก้ไขกฎบัตรของสหภาพฯ หลายครั้งเพื่อที่จะให้กฎบัตรมีความเหมาะสมเข้ากับสถานการณ์และวิถีทางของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เปลี่ยนชื่อสหภาพฯ เป็นสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพฯ
วัตถุประสงค์
สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ได้และรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการธำรงสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนของทวีปเอเชียและแปซิฟิก
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ สหภาพฯ จะต้อง
๑. ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความสามัคคีระหว่างประเทศและประชาชาติทั้งหลายในเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะระหว่างประเทศภาคีของสหภาพฯ ให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น
๒. สนับสนุนส่งเสริมบรรดาสมาชิกรัฐสภาของประเทศที่ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกที่เห็นชอบด้วยกับวัตถุประสงค์ของสหภาพฯ และแสดงความประสงค์ที่จะ ส่งเสริมพัฒนาการของสหภาพฯ ให้จัดตั้งหน่วยประจำชาติของตนขึ้น และสมัครเข้าเป็นภาคีของสหภาพฯ ด้วย
๓. ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและวิชาการ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพูนความผาสุกร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะระหว่างประเทศภาคีของสหภาพฯ บนพื้นฐานทางมนุษยธรรม
๔. อภิปรายถึงเรื่องต่าง ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสันติภาพ และความมั่นคงในทวีปเอเชียและแปซิฟิก และดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ได้ตกลงกันไว้
๕. เคารพในหลักการของอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งอาณาเขตของทุกประเทศ และหลักการไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
โครงสร้าง
สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิกประกอบด้วย หน่วยประจำชาติ ต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกหน่วยประจำชาติเหล่านี้จัดตั้งขึ้นโดยมีความคิดเห็นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสหภาพฯ
องค์กรต่าง ๆ ของสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก มีดังนี้คือ
๑. สมัชชาใหญ่ (General Assembly) ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยประจำชาติต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกประเทศละไม่เกิน ๑๐ คน เข้าร่วมในการประชุม ปีละ ๑ ครั้ง สมัชชาใหญ่มีหน้าที่พิจารณากิจการต่าง ๆ ของสหภาพฯ โดยทั่วไป เช่น การให้ความเห็นชอบในการรับสมาชิกใหม่ การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์ และการรับรองข้อมติ เป็นต้น
๒. คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วย หน่วยประจำชาติต่าง ๆ ที่เป็นภาคีของสหภาพฯ จะแต่งตั้งผู้แทนประเทศละไม่เกิน ๓ คน เป็นสมาชิกของคณะมนตรีให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสหภาพฯ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานอื่นๆ ที่สมัชชาใหญ่ได้จัดตั้งขึ้น การประชุมคณะมนตรีจัดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง ในคราวเดียวกับสมัชชาใหญ่ฯ
๓. สำนักงานเลขาธิการกลางสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเก็บรักษาเอกสารที่สำคัญ ติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยประจำชาติต่าง ๆ รวมทั้งเก็บรักษาและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการ ดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลตามมติของสหภาพฯ สำนักงานเลขาธิการกลางสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีเลขาธิการ ชื่อ นาย Tetsuya Hirose
สมาชิกภาพ
ตามกฎบัตรของสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก สมาชิกรัฐสภาหรือรัฐสภาของประเทศใด ๆ ที่เห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของสหภาพฯ จะจัดตั้งเป็นหน่วยประจำชาติขึ้นและสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพฯ ได้โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยประจำชาติที่เป็นสมาชิกเดิมทุกหน่วยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ปัจจุบันหน่วยประจำชาติไทยชำระค่าบำรุงปีละ ๓,๖๐๐ เหรียญสหรัฐ
ในระยะ ๒-๓ ปีแรกของการจัดตั้งสหภาพฯ มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น ๙ ประเทศ คือ ไต้หวัน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่ในปัจจุบันสหภาพฯ มีหน่วยประจำชาติที่เป็นสมาชิกอยู่ ๒๓ ประเทศ โดยแบ่งเป็นสมาชิกหน่วยประจำชาติ (National Member Groups) ๒๑ ประเทศ และสมาชิกสมทบ (Associate Member Groups) ๒ ประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเทศผู้สังเกตการณ์ (Observer) อีก ๑ ประเทศ
สมาชิกหน่วยประจำชาติ
๑) ไต้หวัน ๒) หมู่เกาะคุก ๓) สาธารณรัฐฟิจิ ๔) ญี่ปุ่น ๕) สาธารณรัฐคิริบาส ๖) สาธารณรัฐ-เกาหลี ๗) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ๘) มาเลเซีย ๙) สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ๑๐) สหพันธรัฐไมโครนีเซีย ๑๑) สาธารณรัฐนาอูรู ๑๒) ปาปัวนิวกีนี ๑๓) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ๑๔) หมู่เกาะโซโลมอน ๑๕) ราชอาณาจักรไทย ๑๖) ราชอาณาจักรตองกา ๑๗) ตูวาลู ๑๘) สาธารณรัฐวานูอาตู ๑๙) รัฐเอกราช-ซามัว ๒๐) สาธารณรัฐปาเลา ๒๑) มองโกเลีย
สมาชิกสมทบ
๑) กวม ๒) เครือจักรภพหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา
ประเทศผู้สังเกตการณ์
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (สถานภาพปัจจุบัน : เป็นผู้สังเกตการณ์ และอยู่ในระหว่างพิจารณาให้เป็นสมาชิกหน่วยประจำชาติ)
หน่วยงานพิเศษ
นอกจากการดำเนินงานในด้านที่เกี่ยวกับการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ของประเทศที่เป็นสมาชิกแล้ว สหภาพฯ ยังได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นอีก ๒ หน่วย ให้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการเฉพาะเรื่อง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ และศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งรับผิดชอบด้านวัฒนธรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ศูนย์พัฒนาเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Development Center)
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๓ ของสหภาพฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ผู้แทนหน่วยประจำชาติอินโดนีเซีย ได้เสนอให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นหน่วยงานสำหรับศึกษาค้นคว้า ให้คำแนะนำแก่สหภาพฯ ด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้ลงมติให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าว
ในปีต่อมา ในการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๑ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่ประชุมได้มีมติให้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเอเชีย และได้ตั้งกรรมการขึ้นสองชุดคือ
๑. กรรมการวางโครงการเพื่อจัดตั้งศูนย์ฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากไต้หวัน สาธารณรัฐ-อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคม-นิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
๒. กรรมการวิชาการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากไต้หวัน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐ-เกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐ-ฟิลิปปินส์
ระหว่างวันที่ ๕-๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ มีการประชุมกรรมการวิชาการ เพื่อร่างกฎบัตรของศูนย์ฯ และได้ส่งร่างนี้ให้คณะกรรมการของศูนย์พิจารณา
ในการประชุมคณะมนตรี ครั้งที่ ๖ ณ กรุงมะนิลา ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้มีการเสนอร่างกฎบัตรของศูนย์ต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ เพื่อให้พิจารณาก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งต่อไป
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งต่อไป ครั้งที่ ๕ ณ กรุงไทเป ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้ลงมติเกี่ยวกับศูนย์พัฒนาเอเชียคือ
๑. อนุมัติให้ใช้กฎบัตรของศูนย์ฯ
๒. กำหนดให้ตั้งสำนักงานใหญ่ของศูนย์ฯ ขึ้นที่กรุงมะนิลา
๓. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร เรียกว่า คณะผู้ว่าการศูนย์พัฒนาเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าการและรองผู้ว่าการของศูนย์ฯ จากประเทศสมาชิก คือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ศูนย์พัฒนาเอเชีย ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ศูนย์พัฒนาเอเชีย ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนา เอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Development Center - APDC)
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาเอเชียและแปซิฟิกได้หยุดการดำเนินงานของศูนย์ฯ และได้ขอให้หน่วยประจำชาติไทยระงับการส่งเงินค่าบำรุงไปให้นับตั้งแต่ศูนย์ฯ ได้ยุติกิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๕๓๒
ศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Cultural Center)
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย ได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเอเชียขึ้นให้มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ ของบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกของศูนย์ฯ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Cultural Center - APCC)
วัตถุประสงค์ของศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและแปซิฟิก คือ
๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งการพัฒนาและเผยแพร่วัฒนธรรมเอเชียและแปซิฟิก
๒. เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความร่วมมือกันระหว่างมวลสมาชิกของสหภาพฯ
๓. เพื่อส่งเสริมศีลธรรมของมวลมนุษย์ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
นอกจากนี้แล้ว ศูนย์วัฒนธรรมฯ ยังมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะแก่สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาสังคมและมนุษยธรรมในทวีปเอเชียโดยทั่ว ๆ ไป หรือในส่วนหนึ่งส่วนใดของทวีปนี้ ตามที่ได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการของศูนย์วัฒนธรรมฯ และเป็นศูนย์กลางในการจัด กิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างสมาชิกในการนี้ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้ดำเนินงาน ดังนี้ คือ
๑. จัดการประชุมคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นประจำทุกปีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกประเทศละ ๒ คน เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรมฯ
๒. จัดพิมพ์วารสารชื่อ วัฒนธรรมเอเชีย (Asian Culture) เพื่อให้สมาชิกของศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้ส่งบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศตนไปลงในวารสารดังกล่าว เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมเอเชียให้กว้างขวาง และยังจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีและเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างสมาชิกของ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ด้วย
๓. จัดนิทรรศการภาพเขียนและภาพลายมือของบรรดาสมาชิกรัฐสภาของหน่วยประจำชาติที่เป็นภาคีของสหภาพฯ
๔. ประสานงานกับสหภาพฯ ในการจัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวัฒนธรรมเอเชีย
ในระยะ ๓ ปีแรก ของการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย หน่วยประจำชาติไต้หวัน ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด ในระยะต่อมา ค่าใช้จ่ายของศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้จากเงินค่าบำรุงที่เก็บจากสมาชิกของศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นรายปี ในปัจจุบันหน่วยประจำชาติไทย จะต้องชำระค่าบำรุงปีละ ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ กรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้ระงับการส่งเงินค่าบำรุงสมาชิกศูนย์วัฒนธรรมฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๕ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันศูนย์วัฒนธรรมฯ ไม่สามารถจัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมได้ เนื่องจากปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนหลักทางด้านการเงินแก่ศูนย์วัฒนธรรมฯ และประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพฯ ไม่ได้ส่งเงินค่าบำรุง ทั้งนี้ หน่วยประจำชาติไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ศูนย์วัฒนธรรมฯ เช่นเดิม ถ้าหากมวลสมาชิกของศูนย์-วัฒนธรรมฯ ร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนจ่ายเงินค่าบำรุงเพื่อให้ศูนย์วัฒนธรรมฯ สามารถจัดกิจกรรมได้ในอนาคต
สำนักงานของศูนย์วัฒนธรรมฯ ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ กรุงไทเป ไต้หวัน แต่ได้ว่างเว้นจากการดำเนินกิจกรรม และหน่วยประจำชาติไทยได้ระงับการส่งค่าบำรุงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕
รัฐสภาไทยกับสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก
ประวัติการเข้าเป็นสมาชิก
รัฐสภาไทยได้ให้ความร่วมมือในการจัดตั้งสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิกมาแต่เริ่มแรกโดยได้ส่งคณะผู้แทนไปร่วมในการประชุมปรึกษาหารือกับคณะผู้แทนประเทศอื่น ๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘ ตามหนังสือเชิญของพรรคลิเบอรัล เดโมแครท ในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางกระทรวงการ-ต่างประเทศคณะผู้แทนประกอบด้วย พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา นายประสงค์ บุญเจิมและพลโท สุข เปรุนาวิน
คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เสนอรายงานผลการประชุมต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรีสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาไทย ได้ประชุมเป็นการภายใน เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพฯ และการส่งคณะผู้แทนไปร่วมในการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๑ ซึ่งกำหนดจัดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน - ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ประชุมได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการประกอบด้วย พันเอก วัลลภ โรจนวิสุทธิ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และหลวงประกอบนิติสาร เมื่อคณะกรรมาธิการประชุมกันแล้วก็เสนอความเห็นประกอบรายงานการประชุมว่า ควรไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๑ ส่วนการเข้าร่วมเป็นภาคีของสหภาพฯ นั้น จะต้องศึกษากฎบัตรของสหภาพฯ ให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน
สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ประชุมเป็นการภายใน เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในรายงานของคณะกรรมาธิการ และได้มีมติให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาตัวบุคคลที่จะเป็นผู้แทนไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปี ครั้งที่ ๑ ประธานและรองประธานได้แต่งตั้งหลวงประกอบนิติสาร พลโท สุข เปรุนาวิน และพลโท วัลลภ โรจนวิสุทธิ เป็นคณะผู้แทนไปร่วมประชุม
เมื่อคณะผู้แทนคณะนี้กลับจากการประชุมก็ได้จัดทำรายงานผลการประชุมเสนอต่อที่ประชุมภายในของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่ประชุมรับทราบรายงานของคณะผู้แทน ส่วนเรื่องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพฯ นั้นที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติให้รอไปก่อน
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อจัดเตรียมงานการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๒ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างกฎบัตรของสหภาพฯ และมีมติให้ผู้แทนทุกประเทศนำร่างกฎบัตรนี้กลับไปให้รัฐสภาของประเทศตนพิจารณารับรอง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงให้รัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๒ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่าง วันที่ ๒-๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๙
สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ประชุมเป็นการภายใน เป็นครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อพิจารณาเรื่องการเข้าเป็นภาคีของสหภาพฯ และเมื่อที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎบัตรของสหภาพฯ ที่คณะ-ผู้แทนไทยนำกลับมาแล้ว ก็ได้ลงมติให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพฯ และให้จัดตั้งหน่วยประจำชาติไทยขึ้นพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการหน่วยประจำชาติไทยให้มีหน้าที่ดำเนินงานด้าน สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียต่อไป
เมื่อได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ แล้ว หน่วยประจำชาติไทยต้องชำระเงินค่าบำรุงให้แก่สหภาพฯ เป็นประจำทุกปี สำหรับปัจจุบันหน่วยประจำชาติไทยชำระ ค่าบำรุงสำนักงานเลขาธิการกลางสหภาพฯ ประมาณปีละ ๓,๖๐๐ เหรียญสหรัฐ
หน่วยประจำชาติไทย
ตามมาตรา ๑ ของข้อบังคับหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพฯ กำหนดว่า สมาชิกรัฐสภาไทยประกอบกันเป็นหน่วยประจำชาติไทย... ฉะนั้น ในกรณีที่รัฐสภาไทยมีสองสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นสมาชิกหน่วยประจำชาติไทยโดยตำแหน่ง
คณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย
การดำเนินการในรูปแบบของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก และบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยฯ ซึ่งประกอบด้วย ประธาน รองประธาน- กรรมการบริหารโดยตำแหน่งและกรรมการบริหารอื่นอีก ๑๔ คน โดยมีประธานรัฐสภาเป็นประธาน และรองประธานรัฐสภาเป็นรองประธานหน่วยประจำชาติไทยฯ โดยตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รอง-ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเป็นกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการบริหารของหน่วยฯ
สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก กับสถานการณ์ปัจจุบัน
การปฏิรูปองค์กร
แนวคิดการปรับรูปแบบการทำงานของสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ริเริ่มโดยประเทศสมาชิกก่อตั้ง ๔ ชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ (ยกเว้น เกาหลีใต้) มีความเห็นร่วมกันที่จะผลักดันให้เกิดการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก วาระพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการหารือของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับแนวทางฟื้นฟูสหภาพ ฯ ให้เป็นสถาบันความร่วมมือของสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชียและ แปซิฟิกอีกครั้งโดยการปฏิรูปองค์กรในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านค่าใช้จ่ายและด้านสารัตถะ โดยเน้นผลงานที่เป็นรูปธรรมผ่านทางการหารือเฉพาะเรื่อง และเน้นการนำข้อมติไปปฏิบัติในแต่ละประเทศสมาชิก ดังนี้
๑. ลดขั้นตอนการทำงานและค่าใช้จ่าย
๑.๑ ปรับปรุงการประชุมสหภาพฯ ให้มีความกระชับขึ้น โดยลดจำนวนวันประชุมเป็นการประชุมคณะมนตรีฯ ๑ วัน และการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ๑ วัน
๑.๒ เปลี่ยนที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการสหภาพฯ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
๒. มุ่งเน้นผลงานที่เป็นรูปธรรม
๒.๑ การประชุมสมัชชาใหญ่ฯ เน้นจำกัดจำนวนหัวข้อการประชุมซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญที่นำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้
๒.๒ กำหนดส่งร่างข้อมติภายใน ๑๕ วันก่อนวันประชุม
๒.๓ การเปิดเว็บไซต์ของสหภาพฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานงานภายในสหภาพฯ
๒.๔ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ญี่ปุ่นจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหภาพฯ ทุก ๆ ๒ ปี โดยญี่ปุ่นจะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ ๓๙ และคณะมนตรีฯ ครั้งที่ ๗๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น (การประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ ๓๘ และคณะมนตรีฯ ครั้งที่ ๗๒ จัดขึ้น ณ สาธารณรัฐปาเลา โดยมีหัวข้อ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เป็นประเด็นหลักในการประชุม)
นอกจากนี้การประชุมสมัชชาใหญ่ฯ วาระพิเศษ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรร่วมมือกันแก้ไข โดยสหภาพฯ จะเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทให้เกิดการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นที่มาของการรายงานสถานการณ์ภายในประเทศด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Country Report) เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในประเทศสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิกยุคใหม่
การประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ ๓๘ และคณะมนตรีฯ ครั้งที่ ๗๒ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ ณ กรุงเมเลเคอ็อก สาธารณรัฐปาเลา ซึ่งมีหัวข้อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เป็นหัวข้อหลักในการประชุมเกิดขึ้นจากความร่วมมือและความตั้งใจจริงของประเทศสมาชิกที่ประสงค์จะเห็นองค์กรกลับมามีบทบาทเป็นองค์กรหลักของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอีกครั้งหนึ่ง การประชุมดังกล่าวมีบรรยากาศของมิตรภาพและความเป็นกันเองของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเจ้าภาพซึ่งให้การต้อนรับคณะผู้แทนรัฐสภาจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ และการจัดเตรียมการประชุมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ประเด็น สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุม ในครั้งนี้ยังมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประเทศเจ้าภาพให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ควบคู่ไปกับการพัฒนา โดยสาธารณรัฐปาเลาเป็นประเทศหมู่เกาะ ที่มีประชากรเพียง ๒๐,๐๐๐ คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นการรักษาสภาพแวดล้อมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมติที่หารือกันในการประชุมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความกังวลของประเทศสมาชิกที่มีต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ทั้งประเด็นด้านการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน และภาวะโลกร้อนอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ซึ่งนานาชาติกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้และพยายามที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อเป็น การสานต่อความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมภายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ฯ มีความเห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันให้พิจารณาประเด็นพลังงานทดแทน ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหัวข้อหลักในการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ
การประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๙ และคณะมนตรีฯ ครั้งที่ ๗๓ จัดขึ้น ณ เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๑
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ได้พิจารณาหัวข้อที่สำคัญ กล่าวคือ พลังงานทดแทน ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ มีการเสนอร่างข้อมติทั้งสิ้น ๑๐ ฉบับ ภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับรองร่างข้อมติ ๕ ฉบับ ประกอบด้วย ๑) ข้อมติว่าด้วยบูรณาการการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน ภาวะโลกร้อนและการมีส่วนร่วมของประชาชน เสนอโดยไทย ๒) ข้อมติว่าด้วยมาตรการในการส่งเสริมกิจกรรมและบทบาทของสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก เสนอโดยไทย ๓) ได้แก่ ข้อมติว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือด้านพลังงาน เสนอโดยฟิลิปปินส์ ๔) ข้อมติว่าด้วยความ-มั่นคงด้านอาหาร เสนอโดยฟิลิปปินส์ และ ๕) ข้อมติว่าด้วยการใช้ทรัพยากรปลาวาฬที่ยั่งยืน เสนอโดยหน่วยประจำชาติตองกา
ทั้งนี้ สาระสำคัญของข้อมติที่ได้รับการรับรอง กล่าวคือ ข้อมติว่าด้วยบูรณาการการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน ภาวะโลกร้อน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เรียกร้องให้เน้นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและประชาชน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกด้านความมั่นคงทางพลังงานโดยการร่วมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์กับประเทศที่ต้องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก
อนึ่ง ข้อมติว่าด้วยมาตรการในการส่งเสริมกิจกรรมและบทบาทของสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ที่เสนอโดยไทย ได้เสนอการปฏิรูปสหภาพโดยการขยายการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆในภูมิภาคและนอกภูมิภาค หน่วยประจำชาติไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดโครงการและทัศนศึกษา สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐสภาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกสหภาพจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะด้าน และจัดโครงการและทัศนศึกษาในประเด็นต่างๆที่สำคัญหมุนเวียนกันไป
ข้อมติว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือด้านพลังงาน เรียกร้องว่าให้มีความร่วมมือเพื่อความ-มั่นคงด้านพลังงาน ความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อการจัดสรรพลังงานในระยะยาว ข้อมติว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาอาหารโลก กำกับดูแลการกำหนดราคาข้าว และส่งเสริมการปฏิวัติเขียวเพื่อเร่งผลผลิต
ข้อมติว่าด้วยการใช้ทรัพยากรปลาวาฬที่ยั่งยืน เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการควบคุมการล่าปลาวาฬระหว่างประเทศย้ำความสำคัญของการใช้ทรัพยากรปลาวาฬที่ยั่งยืน
ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาร่างข้อมติ ๕ ฉบับไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป คือ และการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๔๐ และการประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งที่ ๗๔ กำหนดมีขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ ไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
บทบาทของไทยในสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก
ประเทศสมาชิกสหภาพฯ รวมถึงประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของสหภาพฯ ที่จะเป็นองค์กรเพื่อความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของรัฐสภาต่อไปและสหภาพฯ ยังเป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทในกรอบความร่วมมือของรัฐสภาระหว่างประเทศ และในปัจจุบันยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ประชาคมโลกเข้าใจถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทยที่กำลังกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยอีกครั้ง รวมทั้งบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการติดต่อการค้าระหว่างประเทศ
ขณะนี้สถานการณ์ขององค์กรถือได้ว่าอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านดังนั้นการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสนับสนุนองค์กรให้เจริญก้าวหน้าและมีผลงานที่เป็นรูปธรรม บทบาทของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกแรกตั้ง สามารถที่จะแสดงจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนในการมีบทบาทนำในองค์กร ทั้งการพัฒนารูปแบบการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการเป็นตัวกลางประสานงานส่งผ่านข้อมูลข่าวสารให้แก่ประเทศสมาชิก หรือการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญและสนใจในการมีส่วนร่วมกับการทำงานของสหภาพฯ และยังเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำงานของรัฐสภาไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีความร่วมมือระดับนานาชาติอีกด้วย