องค์การสมาชิกรัฐสภานานาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (Global Organization of Parliamentarians Against Corruption - GOPAC)
๑. ความเป็นมา
องค์การสมาชิกรัฐสภานานาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (Global Organization of Parliamentarians Against Corruption) หรือ GOPAC เป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การให้สมาชิกรัฐสภาและบุคคลอื่น ๆ มาทำงานร่วมกันเพื่อการต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมความโปร่งใสและการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาตรฐานในการสร้างคุณธรรมในการบริหารงานภาครัฐ
GOPAC ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๕ โดยจัดเป็นการประชุมปฐมฤกษ์ ณ กรุงออตตาวา แคนาดา การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาแคนาดา สถาบันแห่งธนาคารโลก และองค์การพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา มีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมกว่า ๑๗๐ คนจาก ๖๐ ประเทศทั่วโลก
๒. วัตถุประสงค์
นอกจากวัตถุประสงค์หลักขององค์การตามที่ได้กล่าวแล้ว GOPAC ยังได้ จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมมือกับกลุ่มภูมิภาค (regional chapters) ในการจัดตั้งมาตรฐานการปฏิบัติ ส่งเสริมความโปร่งใส หลักการปกครองที่ดี (good governance) หลักนิติธรรม (rule of law) และการตรวจสอบของสถาบันรัฐ พัฒนาขีดความสามารถของรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมทั้งสถาบันอื่น ๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถาบันเหล่านั้นได้ โดยต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันในหมู่สมาชิกรัฐสภา พร้อมทั้งแบ่งปันข้อมูลของบทเรียนและการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการต่อต้านการทุจริต นอกจากนี้ องค์การยังทำงานร่วมกับองค์กรระดับชาติและระดับภูมิภาคในการระดมทรัพยากรเพื่อโครงการต่าง ๆ ในการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย
๓. สมาชิกขององค์การและสมาชิกภาพ
ปัจจุบันสมาชิกของ GOPAC มีจำนวนกว่า ๙๐๐ คนจาก ๙๐ ประเทศทั่วโลก โดยสมาชิกรัฐสภา อดีตสมาชิกรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกอย่างเป็นประชาธิปไตยซึ่งไม่มีตำแหน่งใด ๆ และรัฐสภา ในฐานะสถาบัน เป็นสมาชิกภาพโดยสมบูรณ์โดยการสมัครเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม สมาชิกภาพจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอำนวยการของ GOPAC
สมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงเมื่อถึงแก่กรรม ถูกถอดถอน หรือลาออกโดยสมัครใจ
๔. โครงสร้าง หน่วยงานของ GOPAC
(๑) คณะกรรมการอำนวยการ (Board of Directors) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๓ คนจากกลุ่มภูมิภาคที่ได้มีการจัดตั้งสมบูรณ์แล้ว และ ๑ คนจากกลุ่มภูมิภาคซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง คณะกรรมการอำนวยการ มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ของ GOPAC รวมทั้งอำนาจในการตัดสินใจในการแนะนำให้มีการปฏิบัติตามการตัดสินใจ โดยให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ
(๒) คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) เป็นหน่วยงานบริหารของ GOPAC ประกอบด้วยประธาน ๑ คน รองประธาน ๒ คน เลขานุการ ๑ คน เหรัญญิก ๑ คน และสมาชิกอีก ๒ คน คณะกรรมการบริหารจะรับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับองค์การ ยกเว้น ความรับผิดชอบหรือภาระหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เฉพาะด้านอีกเช่น รับสมัครสมาชิกขององค์การหรือเข้าเป็นสาขาขององค์การ เรียกประชุมคณะกรรมการ อำนวยการในกรณีฉุกเฉิน เสนอโครงการและงบประมาณประจำปีขององค์การต่อคณะกรรมการอำนวยการ อำนวยความสะดวก และส่งเสริมการติดต่อสื่อสารกันระหว่างสมาชิก รวมถึงกระทำข้อตกลงต่าง ๆ ในนาม GOPAC เป็นต้น
(๓) กลุ่มภูมิภาค (Regional Chapters) คือกลุ่มที่รวมตัวกันภายในภูมิศาสตร์เดียวกันภายใต้การรับรองของคณะกรรมการอำนวยการ โดยในแต่ละกลุ่มภูมิภาคประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร คือ ประธาน รองประธาน เลขานุการ และเหรัญญิก นอกจากนี้แต่ละกลุ่มภูมิภาคและอนุภูมิภาคสามารถกำหนดกฎข้อบังคับและกรอบการทำงานของตนเองได้โดยให้มีความสอดคล้องกับธรรมนูญของ GOPAC
ปัจจุบันกลุ่มภูมิภาคของ GOPAC ประกอบด้วยกลุ่มภูมิภาคทั้งหมด ๑๓ กลุ่ม ได้แก่
๓.๑ กลุ่มเครือข่ายรัฐสภาแอฟริกาเพื่อการต่อต้านการทุจริต (APNAC)
๓.๒ สมาชิกรัฐสภากลุ่มภูมิภาคอาหรับเพื่อการต่อต้านการทุจริต (ARPAC) ประกอบด้วยประเทศในกลุ่มอาหรับจำนวน ๑๑ ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย เลบานอน จอร์แดน อียิปต์ คูเวต ซูดาน ซาอุดีอาระเบีย เยเมน ปาเลสไตน์ โมร็อกโก และบาห์เรน
๓.๓ สมาชิกรัฐสภากลุ่มภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้เพื่อการต่อต้านการทุจริต (AustralAsia)
๓.๔ สมาชิกรัฐสภากลุ่มภูมิภาคแคริบเบียนเพื่อการต่อต้านการทุจริต (CaribPAC) นำโดยสมาชิกวุฒิสภาจากตรินิแดด แองกวิลลา และหมู่เกาะเคย์แมน
๓.๕ กลุ่มภูมิภาคเอเชียกลาง ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งภายใต้การนำของสมาชิกรัฐสภาและประธานหน่วยประจำชาติแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซสถาน
๓.๖ สมาชิกรัฐสภายุโรปเพื่อการต่อต้านการทุจริต ก่อตั้งโดยสมาชิกจากสภายุโรป จำนวน ๓ คน จากเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสวีเดน โดยเปิดตัวต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๘ จากการรวมตัวกันของสมาชิกรัฐสภา ณ สภายุโรป เมืองสตราสบูร์ก สาธารณรัฐฝรั่งเศส
๓.๗ สมาชิกรัฐสภากลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเพื่อการต่อต้านการทุจริต (LAPAC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๕ ภายใต้การนำของสมาชิกรัฐสภาแห่งอุรุกวัย วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมสมาชิกรัฐสภาและอดีตสมาชิกรัฐสภาในการต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมความโปร่งใสและการตรวจสอบได้
๓.๘ สมาชิกรัฐสภากลุ่มประเทศอเมริกาเหนือเพื่อการต่อต้านการทุจริต (NAPAC) ได้แก่ สมาชิกรัฐสภาจากประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ทั้งในระดับชาติและระดับมลรัฐ
๓.๙ สมาชิกรัฐสภากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อการต่อต้านการทุจริต (NEAPAC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ โดยมีสมาชิกรัฐสภาจากสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธานกลุ่ม และมีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
๓.๑๐ กลุ่มรัฐเอกราชใหม่เพื่อการต่อต้านการทุจริต (NISPAC) ได้เริ่มเปิดตัวขึ้นในเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ในประเทศยูเครน NISPAC เป็นกลุ่มภูมิภาคยุโรปตะวันออก อันประกอบด้วยประเทศเอกราชใหม่จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเดิม ได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบโลรัสเซีย จอร์เจีย มอลโดวา และยูเครน
๓.๑๑ กลุ่มประจำชาติรัสเซีย ก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕ มีสมาชิกสภาดูมาของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นผู้นำกลุ่ม
๓.๑๒ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาเอเชียใต้เพื่อการต่อต้านการทุจริต (SAPAC)
๓.๑๓ สมาชิกรัฐสภากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการต่อต้านการทุจริต (SEAPAC) การประชุม SEAPAC ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีผู้แทนจากประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน ๖ ประเทศเข้าร่วมประชุม คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นประเทศสมาชิกผู้ตั้งองค์กร SEAPAC
ตามธรรมนูญของ SEAPAC บทที่ ๓ มาตรา ๔ วรรคแรก กำหนดให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ SEAPAC เลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร (ประกอบด้วยประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และสมาชิกของแต่ละประเทศ ประเทศละ ๑ คน ที่เข้าร่วมประชุมใน SEAPAC) และในวรรคสอง กำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารทุกๆ ๒ ปี
(๔) การประชุมจะจัดขึ้นทุก ๆ ๒ ปีโดยมีสมาชิกและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม การอภิปรายในการประชุมนั้นจะเป็นการอภิปรายในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขตของวัตถุประสงค์ขององค์การหรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการเลือกตั้งและการตัดสินต่าง ๆ ในการประชุมจะยึดหลักเสียงข้างมากของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมโดยสมาชิกแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงคนละ ๑ เสียง
(๕) สำนักงานเลขาธิการ (Global Secretariat) เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานระหว่าง GOPAC กลุ่มภูมิภาค และหน่วยประจำชาติ มีหน้าที่จัดทำประวัติของสมาชิก ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารขององค์การ สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการบริหาร รวมทั้งประสานงานด้านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่าง GOPAC กับองค์กรอื่น ๆ รวมไปถึงหน้าที่ในการควบคุมทางด้านการเงินและเก็บรักษาประวัติและเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของ GOPAC สำนักงานใหญ่ถาวรของ GOPAC ตั้งอยู่ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา โดยมี นาย John Williams อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง GOPAC คนสำคัญเป็นผู้บริหารสูงสุด (CEO)
ปัจจุบัน ประธานของ GOPAC คือ Dr. Naser J. Al-Sane สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคูเวต
๕. การแก้ไขธรรมนูญ กฎ และข้อบังคับ
ธรรมนูญของ GOPAC มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๘ มาตรา การปรับ เพิ่ม ตัดทอน หรือเสริมข้อความใดๆ ในธรรมนูญเป็นครั้งคราว สามารถทำได้โดยมีข้อมติพิเศษ และได้รับเสียงสนับสนุนจำนวน ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มาประชุม
กรณีที่สมาชิกเสนอให้มีการแก้ไขธรรมนูญ สมาชิกนั้นจะต้องยื่นความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารอย่างน้อย ๓ เดือนก่อนการประชุมหรือการประชุมพิเศษ
๖. การประชุม GOPAC
นับตั้งแต่ GOPAC ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๕ มีการประชุมแล้ว ๓ ครั้ง ดังนี้
- การประชุมองค์การสมาชิกรัฐสภานานาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (GOPAC) ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓-๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๕ ณ กรุงออตตาวา แคนาดา มีวัตถุประสงค์เพื่อการต่อต้านการทุจริตโดยผ่านการเสริมสร้างความมีประสิทธิภาพของสมาชิกรัฐสภาโดยการส่งเสริมความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วม
- การประชุมองค์การสมาชิกรัฐสภานานาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (GOPAC) ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กันยายน ๒๕๔๙ ณ เมืองอารูชา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย โดยมีกลุ่มภูมิภาคแอฟริกัน (APNAC) เป็นผู้ร่วมสนับสนุนและรับผิดชอบจัดการประชุม สาระสำคัญของการประชุมนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) ในข้อมติทั้งหมด ๘ เรื่อง ดังนี้
๖.๑ การเข้าถึงข้อมูล สื่อ และประชาสังคม
๖.๒ การป้องกันการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การคืนสภาพสินทรัพย์
๖.๓ ประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา
๖.๔ การให้เงินกู้เพื่อการช่วยเหลือในการพัฒนา
๖.๕ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต
๖.๖ ความคุ้มกันทางรัฐสภา
๖.๗ การตรวจสอบของรัฐสภา
๖.๘ การเปิดเผยรายได้จากการใช้ทรัพยากร
- การประชุมสมาคมสมาชิกรัฐสภานานาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (GOPAC) ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ กรุงคูเวตซิตีรัฐคูเวต โดยความร่วมมือระหว่าง GOPAC กับสมาชิกรัฐสภากลุ่มภูมิภาคอาหรับเพื่อการต่อต้านการทุจริต (ARPAC) การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นบทบาทของสมาชิกรัฐสภาในอนุสัญญาสหประชาชาติวาด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention Against Corruption UNCAC) นอกจากนี้ สมาชิก GOPAC ยังให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาการประชุม GOPAC ณ รัฐคูเวต ในเรื่องการต่อต้านการทุจริตของสมาชิกรัฐสภาประเทศต่าง ๆ โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับ GOPAC สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ www.gopacnetwork.org
Last Update: Aug 28,2009
|