คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สมัชชารัฐสภาเอเชีย ครั้งที่ 13
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ม.ค. 66 เวลา 14.00 น. ณ เมืองอันทาเลีย สาธารณรัฐทูร์เคีย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในสมัชชารัฐสภาเอเชีย พร้อมด้วยนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล สมาชิกวุฒิสภา และ นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สมัชชารัฐสภาเอเชีย ครั้งที่ 13
ในการประชุมดังกล่าว นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชา ภายใต้หัวข้อการส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคีตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สรุปเนื้อหา ดังนี้
ในปี 2564 มูลค่าการค้าของสินค้าทั่วโลกของภูมิภาคเอเชียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกของโลก และแม้ว่าจะเกิดโรคระบาด แต่เศรษฐกิจในเอเชียก็ยังคงมีประสิทธิภาพมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังคงประสบปัญหาต่าง ๆ หลายประการเช่น ประการแรก มีประชากรขาดสารอาหารกว่า 425 ล้านคนในเอเชียที่กำลังต่อสู้กับความอดอยากประการที่สอง ทวีปเอเชียได้สูญเสียประชากรหลายล้านคนในปี 2561 จากโรคมะเร็ง และในขณะเดียวกันทวีปเอเชียได้สูญเสียประชากรราว 1.5 ล้านคนจากโควิด-19 จนถึงขณะนี้ตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประการที่สาม ทวีปเอเชียประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2565 อาทิน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน แผ่นดินไหว และแผ่นดินถล่ม นอกจากนี้ ชาวเอเชียยังได้รับความเดือดร้อนจากมหันตภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ การทุจริตการปล่อยก๊าซคาร์บอน ความไม่เท่าเทียม และการไม่รู้หนังสือ เป็นต้น ดังนั้น ประวัติศาสตร์สอนบทเรียนแก่เราหรือไม่ว่า แท้จริงแล้ววิกฤตเหล่านี้เป็นสงครามที่พวกเราควรลุกขึ้นมาต่อสู้มากกว่าสงครามทางการทหาร นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึง ซึ่งภายในปี 2593 ประชากรเอเชียหนึ่งในสี่จะมีอายุมากกว่า 60 ปี เมื่อมองไปข้างหน้า ภารกิจที่สำคัญของเรานั้นท้าทายอย่างยิ่งและยิ่งมีความยากมากขึ้นหากปราศจากร่วมมือกัน ถึงเวลาแล้วที่ทุกๆประเทศในเอเชียจะต้องหันหน้าร่วมมือกันภายใต้ระบบพหุภาคีเพื่อความยั่งยืนและสามารถรับมือกับวิกฤติเหล่านี้
โอกาสนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมฯถึงองค์ประกอบ 4 ประการที่จะยกระดับการทำงานภายใต้ระบบพหุภาคีให้เป็นกลไกที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของเอเชีย ได้แก่ 1. การมีความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ในการมีส่วนร่วม 2. ความร่วมมือกันอย่างสมบูรณ์ของประเทศสมาชิกซึ่งจะก่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน 3. การอุทิศตัวในการทำงานร่วมกัน และ 4. การประสานงานกันอย่างดีเลิศระหว่าง 4 เสาหลัก อันได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และสื่อมวลชน
เครดิตข่าว : กลุ่มงานสมาคมรัฐสภาและสมาคมเลขาธิการรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร