วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.พรรคประชาชาติ และนายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย และคณะ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 68 องค์กร เพื่อเชิญ ส.ส. และพรรคการเมือง เข้าร่วมงานสัมมนา "มนต์รักรัฐธรรมนูญคนจน : เมื่อหิ่งห้อยจะพรายแสง" ในวันอาทิตย์ที่ 11 ธ.ค. 65 ณ บริเวณด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 68 องค์กร จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายองค์กรภาคีคนจนได้นำเสนอปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งเสนอข้อเรียกร้องและความต้องการที่จะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ทราบ ตลอดจนเผยแพร่และผลักดันร่างรัฐธรรมนูญคนจนต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ผ่านการนำเสนอปัญหาของคนจนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายของพรรคในการแก้ไขปัญหาของคนจน การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำเสนอนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อีกทั้งเพื่อทำสัญญาประชาคมระหว่างเครือข่ายองค์กรภาคีคนจนกับพรรคการเมืองในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
โดยนายสมคิด เชื้อคง กล่าวว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญนั้น ทางพรรคฝ่ายค้านได้มีการต่อสู้กันมา รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ที่มีการลงมติในวันนี้ ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมไม่เห็นชอบด้วย แต่ก็เป็นแนวทางต่อสู้ของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะเดินหน้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยินดีไปร่วมงานสัมมนาดังกล่าว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า ยินดีที่ได้รับเชิญให้ร่วมงานสัมมนาที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายสูงสุดของประเทศคือรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการแก้ไขความยากจนนั้น มี 3 องค์ประกอบหลักคือ 1. การรับรองสิทธิ อาทิ สิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกร สิทธิแรงงาน สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิชาติพันธุ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2. กระบวนการที่จะใช้ในการรับรองสิทธิต่าง ๆ 3. เป้าหมาย อาทิ เค้าโครงเศรษฐกิจ การทลายทุนผูกขาด ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความยากจนที่เกิดขึ้น
นายนิคม บุญวิเศษ กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านพยายามต่อสู้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะความต้องการให้รัฐธรรมนูญมาจากภาคประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีการเข้าถึงแหล่งทุน มีงบประมาณลงไปในพื้นที่ และมีการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาชาติ เราไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการทำประชามติ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติที่ทำคนไม่เท่ากับคน คนจนเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากผลพวงของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมการผูกขาด ส่งเสริมการไม่กระจายสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมให้คนรวยกระจุกและคนจนกระจาย ดังนั้น การทำให้คนเท่ากับคน ทำให้คนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นหลักพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งพรรคประชาชาติยินดีให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด
นายวิรัตน์ วรศสิริน กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมงานสัมมนา โดยพรรคฝ่ายค้านมีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดย สสร. เพราะทุกวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น จึงควรให้มี สสร. เป็นคนกลางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นธรรมต่อทุกคน เพื่อความปรองดองของประเทศชาติในอนาคต |