วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องสัมมนา B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเวทีอภิปรายและเสนอแนะความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) โดยมี นายดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) กล่าวรายงาน ทั้งนี้ ส.ส. ส.ว. คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และผู้แทนองค์กรทางการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนสมาชิก สคคท. ร่วมกิจกรรม โอกาสนี้ นายศุภชัย โพธิ์สุ กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดกิจกรรมเวทีอภิปรายและเสนอแนะความคิดเห็น พร้อมทั้งอภิปรายสรุปภารกิจของ สคคท. พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่าย และจัดทำสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. ใช้ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ในวันนี้ โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับนี้ คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้ร่วมกันพิจารณาจนได้ข้อสรุป อันเกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษาเป็นอย่างมาก อาทิ
1. การจัดให้สถานศึกษามีหน้าที่จัดการศึกษา ครอบคลุมการบรรลุเป้าหมายตามร่างมาตรา 8 ซึ่งเป็นเป้าหมายแต่ละช่วงวัย แต่ไม่ใช่เป้าหมายปลายทางซึ่งเป้าหมายปลายทาง คือ วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาตามร่างมาตรา 6 รวมถึงครอบคลุมการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ 2. การเพิ่มข้อความว่า "มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้" เพื่อมุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้และสภาพของผู้เรียน มีสภาพสิ่งแวดล้อม และสภาวะที่ปลอดภัย รวมถึง การคำนึงถึงคนพิการหรือบุคคลซึ่งมีความต้องการจำเป็นพิเศษ 3. พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 39 กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ทั้งนี้ มีเหตุผลและข้อเสนอแนะสนับสนุนการกำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลจากผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ดังนี้ 1) โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีขนาดเล็กลง และเป็นสถานที่เพื่อเตรียมการพัฒนาให้แก่ผู้เรียน 2) จะต้องมีการกระจายอำนาจไปให้สถานศึกษาของรัฐอย่างแท้จริง 3) สถานศึกษาของรัฐต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของรัฐ 4) กระทรวงศึกษาธิการต้องมีหน้าที่กำหนดนโยบายและมีหน่วยงานระดับกรมที่มีหน้าที่กำหนดการจัดการทรัพยากรบุคคล งบประมาณ ติดตาม กำกับจรรยาบรรณของสถานศึกษาของรัฐ อีกทั้งกำหนดให้สถานศึกษาของรัฐเป็นหน่วยปฏิบัติสามารถกำหนดการเรียนการสอนอย่างมีอิสระ ทั้งด้านงานวิชาการ ด้านบริหารงานบุคคล ด้านบริหารงานทั่วไป และด้านงบประมาณ อีกทั้ง จะต้องมีการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาของรัฐ โดยมอบความไว้วางใจ สร้างความเชื่อมั่นและปลดปล่อยพันธนาการจากครูไปสู่ผู้เรียน จึงจะเป็นการปฏิรูปด้านการศึกษาอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ได้เสนอว่าสถานศึกษาแบบใหม่จะต้องมีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม และแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสร้างกระบวนการการเรียนการสอนในลักษณะการสร้างแรงผลักดันให้กับผู้เรียน ทั้งนี้ ขอขอบคุณ ประธานคณะ กมธ. ส.ส. ส.ว. สคคท. และผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่ได้เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และขออวยพรให้ทุกท่านประสบกับความสุขความเจริญ มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
จากนั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ รับมอบหลักการเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และสมาชิก สคคท. เพื่อนำไปเสนอและขอเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ เพื่อการศึกษาของชาติไทยต่อไป
ต่อมาเป็นเวทีอภิปราย ซักถาม และเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อนำเสนอต่อคณะ กมธ. ส.ส. และ ส.ว. สำหรับนำไปประกอบการอภิปรายลงความเห็นในการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คนที่สาม นายเฉลา พวงมาลัย โฆษกคณะ กมธ. นายดิเรก พรสีมา กมธ.และที่ปรึกษา และนายกมลเทพ จันทรจิต กมธ. ดำเนินรายการโดย นายประชัน จันระวังยศ ที่ปรึกษาคณะ กมธ.
|