วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา รศ.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่หก และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เรื่อง ขอให้ชะลอการนำเข้าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....ในวาระ 3 โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 45 ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระที่ 2 องค์กรครู 4 ภูมิภาค ในนามสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ได้ติดตามศึกษาและวิเคราะห์ในสาระหลักเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ และไม่ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและสงบสุข มีประเด็นที่ยังเห็นสมควรพิจารณาปรับแก้ไข ดังนี้ 1. รัฐไม่จัดการศึกษาภาคบังคับ ยกการศึกษาให้เอกชนจัดทั้งหมดเบ็ดเสร็จ บุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลก็จัดการศึกษาได้ การศึกษาที่ต่างคนต่างจัดจะนำสู่ปัญหาแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ อาจเกิดความไม่สงบทางสังคมและความวุ่นวายทางการเมืองได้ 2. ไม่มีหลักประกันในวิชาชีพครู ไม่เป็นวิชาชีพควบคุม ใครก็สามารถเป็นครูได้ เด็กและผู้ปกครองไม่ได้รับโอกาสจากครูดีที่มีมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาล้มเหลว 3. โรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นองคาพยพทางสังคมไทย ถูกยุบ ควบรวม ลดจำนวนผู้บริหารและข้าราชการครู สร้างความเดือดร้อนให้กับเด็กและผู้ปกครองที่ยากจนห่างไกลซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่งผลต่อความสงบสุขสามัคคีของคนในชาติ จะมีประชากรในวัยเรียนเป็นผู้ไม่รู้หนังสือหลายแสนคน 4. ขาดการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขาดหลักธรรมาภิบาลการปกครองบ้านเมืองที่ดี 5. แนวการจัดการศึกษาไม่ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนสู่ความเจริญโลกยุค AI (Artificial Intelligence) คน ไทยจะไร้อาชีพ ไม่มีคุณภาพชีวิตที่จะเป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป ดังนั้น สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
. ในวาระ 3 ไว้ก่อน เพื่อตรวจปรับแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยรอบคอบต่อไป
รศ.สุรวาท ทองบุ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ได้รับมอบหมายจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้มารับหนังสือ และตนในฐานะรองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่หก จะ รับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งร่างดังกล่าวได้พิจารณาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 110 มาตรา และมีมาตราเพิ่มขึ้นมาใหม่ จำนวน 20 มาตรา และได้มีการพิจารณาลงมติไปแล้ว จำนวน 40 มาตรา อย่างไรก็ตาม มาตรา 41 - 110 รัฐบาลขอให้คณะกรรมาธิการ ดำเนินการพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ร่างดังกล่าว ประกาศใช้ในรัฐบาลนี้ ทั้งนี้ ในวันนี้ (25 พ.ย. 65) คณะกรรมาธิการได้นำร่างดังกล่าวไปพิจารณาทบทวนอีกครั้ง |