วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1(โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายไชยา พรหมา ประธานคณะ กมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายยศวริศ ชูกล่อม ผู้แทนคณะหลอมรวมประชาชนเพื่อประเทศไทย และคณะ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการเช่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ต้องขัง (กำไล EM) ระยะที่ 1 งบประมาณ 853,052,000 บาท (แปดร้อยห้าสิบสามล้านห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) และ ระยะที่ 2 งบประมาณ 831,546,309.17 บาท (แปดร้อยสามสิบเอ็ดล้านห้าแสนสี่หมื่นหกพันสามร้อยเก้าบาทสิบเจ็ดสตางค์) และกำลังจะเตรียมการขออนุมัติงบกลาง จัดซื้อใน ระยะที่ 3 งบประมาณ 1,200 ล้านบาท (หนึ่งพันสองร้อยล้านบาท) เนื่องจาก มีข้อสงสัยว่า การประมูลโครงการดังกล่าวไม่มีความโปร่งใส มีเพียงบริษัท เดียวที่สามารถประมูลโครงการได้ มีการตั้งกรรมการผู้กำหนด TOR (ทีโออาร์) เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่ประมูลโครงการได้ และกำไลดังกล่าว สัญญาณ GPS มีความไม่เสถียร ไม่มีคุณภาพ และราคาไม่เหมาะสม จึงขอให้ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ดำเนินการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์ของประเทศ
นายชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะนำเรื่องที่มีความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชน ไปทำการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตรวจสอบและหาข้อเท็จจริงตามกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป
ด้านนายไชยา พรหมา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า จากการตรวจสอบของคณะ กมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ จำนวน 2 ครั้ง แล้วมีมติส่งเรื่องการประมูลของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ และให้หน่วยงานทั้ง 2 มีคำสั่งระงับยับยั้งโครงการในระยะที่ 3 เพราะทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน
การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร