วันอังคารที่ 13 กันยายน 2565 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะ กมธ. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ แถลงข่าวถึงความคืบหน้ากรณีนาฬิกาเพื่อนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้แถลงต่อสื่อมวลชนในกรณีที่ได้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อ้างว่าเป็นเพื่อนและได้ยืมนาฬิกาหรู 20 เรือน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติ 5 ต่อ 3 โดยเชื่อว่าเป็นนาฬิกาที่ยืมเพื่อนนักเรียนมาจริง จึงให้ยุติเรื่องดังกล่าว ซึ่งยังคงเป็นที่คลางแคลงใจของพี่น้องประชาชน เนื่องจากว่า ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีที่มาจากการคัดเลือกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และผ่านการเลือกโดยวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ประชาชนสงสัยว่า การพิจารณาในเรื่องนี้อาจยังไม่สิ้นกระแสความ ทั้งนี้ ตนเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อครั้งที่ผ่านมาได้มีการอภิปรายเรื่องนี้และชี้ประเด็นว่า ป.ป.ช.ควรมีการตรวจสอบในเชิงลึก และควรมีการตรวจสอบคดีการจัดการมรดกของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ โดยใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญา 2535 ในการตรวจสอบบริษัทแม่ว่าใครเป็นเจ้าของนาฬิกาที่แท้จริง มิใช่ปักใจเชื่อเลยว่าเป็นนาฬิกาของเพื่อน อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในครั้งนั้นตนถูกประท้วงถึง 24 ครั้ง ซึ่งแสดงถึงบารมีของพล.อ.ประวิตร ว่ามีมากเพียงใดทำให้การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก
ซึ่งภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาตนและคณะทำงานได้มีการตรวจสอบมรดกของเพื่อนพล.อ.ประวิตร เมื่อตรวจสอบแล้วทราบว่า มีคดีจัดการมรดกที่ศาลแพ่ง และได้ให้คณะ กมธ. ป.ป.ช. ขอเอกสารจากศาลแพ่งมาตรวจสอบปรากฏว่าในการจัดการมรดก บัญชีทรัพย์มรดกซึ่งปกติทายาทผู้ขอจัดการมรดกจะต้องสั่งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์มรดกของบุคคลที่พล.อ.ประวิตร อ้างว่าเป็นเพื่อนนั้นไม่ปรากฏว่ามีนาฬิกาหรูเป็นทรัพย์มรดกสักเรือน จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงรีบร้อนยุติเรื่องเร็ว นอกจากนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 54 บัญญัติว่า ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา(1) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่คดี ซึ่งอาจทำให้ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป(2) เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกันและศาลประทับฟ้องหรือพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับหรือยกคำกล่าวหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้(3) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตาย เว้นแต่เป็นกรณีร่ำรวยผิดปกตินี่คือกฎหมายข้อเดียวที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการป.ป.ช.นำเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ เพื่อคลายความสลสัยให้แก่ประชาชนจากกรณีนี้ว่ายังตรวจสอบไม่สิ้นกระแสความ
นอกจากนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มาชี้แจงรายงานประจำปี 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงได้สอบถามไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อประเด็นนี้ที่พบหลักฐานใหม่คือ ในบัญชีทรัพย์มรดกของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ล่าสุดกลับไม่ปรากฏว่ามีนาฬิกาหรูสักเรือน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสามารถนำเรื่องพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ได้ แต่เมื่อตีความในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.แล้ว ควรจะตรวจสอบได้และนี่คือโอกาสที่สำคัญที่สุดที่จะรักษาองค์กรในการตรวจสอบการทุจริตให้มั่นคง โดยไม่ต้องคำนึงถึงที่มาที่ไปของกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สิ้นกระแสความ และคลายความสงสัยให้แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ตนขอเรียกร้องในสามประเด็นดังนี้ 1.ขอให้มีการตรวจสอบเชิงลึก2.ขอให้ตรวจสอบคดีจัดการมรดกให้ชัดและ 3. ขอให้ส่งหนังสือผ่านกระบวนการความร่วมมือของความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญาเพื่อขอข้อมูลจากบริษัทแม่ ซึทงจะทำให้รู้ว่าใครคือเจ้าของนาฬิกาที่แท้จริง เพื่อเป็นการปกป้ององค์กร ป.ป.ช.ให้ยืนหยัดในหลักการของความตรงไปตรงมาโดยไม่สนใจถึงอำนาจบารมีของใคร
การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร