วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะ กมธ. การแรงงาน และคณะ รับยื่นหนังสือจากนางสาวเกศนคร พจนวรพงษ์ ตัวแทนสหภาพแรงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย และคณะ เพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่สมาชิกของสหภาพฯ อดีตพนักงานของบริษัทบิทคับ แล็บส์ จำกัด (Bitkub Labs Co.,Ltd.) เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน
สืบเนื่องจาก สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand (CUT) ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นางสาววริศรา ขันทอง สมาชิกสหภาพฯ อดีตพนักงานในตำแหน่ง Retail andising Associate ของบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด (Bitkub Labs Co.,Ltd.) โดยขณะที่สมาชิกสหภาพฯ ทำงานอยู่กับบริษัทดังกล่าว ได้ประสบกับสภาพทำงานที่ไม่เป็นธรรม และถูกบริษัทฯ กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. ไม่ได้รับวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือถ้าหากต้องการหยุดต้องทำงานติดต่อกัน 6 วัน 2. เวลาในการทำงานเกินที่ตกลงไว้ในสัญญา โดยไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลา 3. ไม่มีเวลาพักกลางวันที่แน่ชัด
โดยกรณีดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นกับตัวของนางสาวริศราเพียงบุคคลเดียว บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ได้มีการละเมิดสัญญาการจ้างงานเช่นนี้กับพนักงานรายอื่นด้วยเช่นกัน โดยบริษัทฯ ได้มีการอ้างก่อนหน้าว่า ตนเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ลงทุนกับเทคโนโลยี แต่ไม่ลงทุนกับแรงงานและสวัสดิการแรงงาน ซึ่งการปฏิบัติต่อพนักงานเช่นนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายแรงงานโดยชัดเจน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่การละเมิดกฎหมายแรงงานในการเลี่ยงมิให้สวัสดิการแก่พนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ่ายค่าล่วงเวลานั้นเป็นเรื่องพบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อมการจ้างพนักงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นการกดขี่ ขูดรีดแรงงานอันผิดปกติซึ่งถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในประเทศที่กฎหมายแรงงานไม่ถูกบังคับใช้เช่นนี้ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) จึงร้องเรียนมายังคณะ กมธ. การแรงงาน เพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่นางสาววริศรา เพื่อให้บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ชี้แจงถึงการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม และการให้สวัสดิการแก่พนักงานที่ไม่เป็นไปตามสัญญาการจ้างแรงงานต่อคณะกมธ. โดยขอให้พิจารณาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในประเด็นการจ่ายค่าล่วงเวลาและสวัสดิการของพนักงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน
นายสุเทพ อู่อ้น กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ยังพบปัญหาในหลายหน่วยงานและหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่มีกฎหมายกำหนดไว้เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานที่ได้กำหนดเรื่องเวลาทำงาน วันหยุด วันลาพักร้อน และการจ่ายค่าล่วงเวลา แต่เหตุใดสถานประกอบการจึงไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่ไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งคณะ กมธ. การแรงงานได้มีการผลักดันในเรื่องนี้มาโดยตลอด และจะมีการบรรจุวาระการติดตามเกี่ยวการบังคับใช้กฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11/1 ที่ผู้ประกอบกิจการต้องรับผิดชอบ และดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ต้องได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยจะนำเรื่องร้องเรียนในวันนี้เข้าสู่การพิจารณาในวันดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า พรรคก้าวไกล สัดส่วนแรงงานร่วมกับพี่น้องเครือข่ายแรงงาน ได้ร่วมกันผลักดันเกี่ยวกับเรื่องแรงงานสัมพันธ์ให้มีการเปิดองค์กรสหภาพแรงงานเพื่อเป็นตัวแทนในส่วนของสภาพแรงงานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น โดยไม่ได้นำตัวบทกฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่จะเป็นการรวมตัวกันเพื่อเป็นตัวแทนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและมีอีกหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน คนทำงาน หรือจะเป็นกลุ่มต่าง ๆ ขณะนี้ในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตนในฐานะประธานคณะ กมธ. การแรงงาน จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานขึ้นในช่วงการปิดการสมัยการประชุม ตลอดจนอาจมีการนำเรื่องเข้าสู่ศาลปกครอง เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างอันจะก่อให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
|