วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน พร้อมด้วย นายจรัส คุ้มไข่น้ำ เลขานุการคณะ กมธ. รับยื่นหนังสือจาก นายกษิดิส ปานหร่าย ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน และคณะผู้แทนสหภาพแรงงาน เครือข่ายแรงงาน และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จำนวน 40 คณะ เรื่องชี้แจงและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และนายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .
เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มงบประมาณของภาครัฐ และสร้างภาระให้ประเทศชาติในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็น 1. การเพิ่มบทนิยามการจ้างงานรายเดือน เป็นการเพิ่มต้นทุนของนายจ้าง และควรเป็นเรื่องการทำสัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น ไม่ควรบังคับหลักการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติอันพึงมีลงเป็นกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายเดิมบังคับใช้อยู่แล้ว 2. การปรับลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนขององค์กร และควรเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้างที่จะใช้แรงงานสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาขององค์กร 3. สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี การให้สิทธิพนักงานเป็นของนายจ้าง จึงไม่เห็นควรจะแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
ซึ่งเหตุผลโต้แย้งของฝั่งสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และนายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัยว่าควรเป็นเรื่องการทำสัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น หรือควรเป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้างที่จะใช้แรงงานสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน ในความเป็นจริงนั้น ลูกจ้างไม่เคยได้รับการแสดงความคิดเห็นก่อนการทำสัญญาจ้างงาน การจ้างงานเกิดขึ้นโดยการที่ลูกจ้างเซ็นสัญญาตามที่นายจ้างระบุเท่านั้น หากไม่เซ็นสัญญาจะไม่ถูกทดลองงานและบรรจุเป็นพนักงานตามลำดับ และสถานประกอบการขนาดต่าง ๆ ที่ไม่มีสหภาพแรงานภายใน ลูกจ้างมักไม่มีอำนาจในการต่อรอง หารือ หรือได้ใช้แรงงานสัมพันธ์หารือร่วมกับนายจ้างในทุกด้าน ส่วนเรื่องการเพิ่มภาระงบประมาณของภาครัฐนั้น หากย้อนไปดูงบประมาณในการช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ของภาครัฐ มักมาจากเงิน 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ งบการคลังในการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ยกเว้นเกษตรกร นักศึกษา โปรแกรมเมอร์ และแรงงานอาชีพอื่น ๆ ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ด้วยการสร้างเงื่อนไข กรอกยื่นสิทธิ ทบทวนสิทธิ ผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้แรงงานหลากหลายอาชีพและช่วงวัยเกิดอุปสรรคในการกรอกยื่นสิทธิ รวมถึงถูกคัดกรองตกหล่นเป็นจำนวนมาก และงบประกันสังคมที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบ (ม.33) โดยใช้เงินประกันตนเองในการช่วยเหลือ ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีการคืนงบส่วนนี้ ผู้ใช้แรงงานกว่า 30 ล้านคนในตลาดแรงงานไทย ล้วนประสบปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และปัญหาการถูกละเมิดกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นช่วง 3 ปีนั้นยิ่งส่งผลให้นายจ้างใช้ช่องว่างทางกฎหมายแรงงานในการเอาเปรียบและเลือกปฏิบัติกับลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมเกิดวิกฤตและไม่สามารถดีขึ้นได้ในที่สุด ดังนั้น การยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. จึงเป็นการแก้ไขทุกปัญหาข้างต้นผ่านการจัดการระบบสวัสดิการแรงงานขั้นต่ำอย่างถ้วนหน้า และเท่าเทียมแก่ผู้คนในสังคม ซึ่งหากปราศจากการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จะเป็นการเพิ่มงบประมาณภาครัฐในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต และจะยิ่งเป็นการสร้างภาระให้ประเทศชาติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
โดย นายสุเทพ อู่อ้น กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เนื่องจากมีการนัดรับยื่นหนังสืออย่างกะทันหัน ตนจะเป็นตัวแทนขอรับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อแสดงเจตจำนงต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
|