วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.0012.00 นาฬิกา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย และนายเสมอกัน เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ยุวชนฯ พบ ส.ส." ดำเนินการเสวนาโดย นายอานนท์ บัวภา ยุวชนประชาธิปไตยจังหวัดชลบุรี ปี 2554 ซึ่งการเสวนาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ประจำปี 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
การเสวนาได้พูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของเยาวชนด้านการเมืองและสังคม แนวนโยบายทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนแนวคิดแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ กล่าวถึงแรงจูงใจในการเข้ามาเป็น ส.ส. และแรงจูงใจในการทำหน้าที่เพื่อเด็ก ความต้องการที่จะสนับสนุน ส่งเสริม คุณธรรมจริยธรรม และเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยนายณัฏฐ์ชนน ได้กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมในชีวิต ทั้งการวางแผนการเรียน ทักษะการทำกิจกรรมทำให้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ทั้งนี้ ทางบ้านของตนเองไม่มีพื้นฐานทางการเมือง แต่จากประสบการณ์ที่เยี่ยมชมรัฐบาล การได้เข้าร่วมแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา ได้ศึกษารัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานทางการเมืองประกอบกับการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทตนเองได้เข้าร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยและมีความใส่ใจเรียนรู้ทางการเมือง จึงลงสมัครแล้วได้เป็น ส.จ. ซึ่งการทำหน้าที่จะไม่สามารถช่วยประชาชนได้มาก เลยลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หลายครั้งแต่เนื่องจากมีวิกฤติการณ์ทางการเมืองหลายครั้งทำให้ต้องลงสมัครหลายสมัย
ด้านนายเสมอกัน เที่ยงธรรม กล่าวถึงแรงจูงใจจากครอบครัว เนื่องจากบิดาเคยทำหน้าที่ ส.ส. จึงทำให้เห็นการทำงานของบิดาและมีความสนใจจะสืบสานทำหน้าที่ต่อจากบิดา เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในการจะเข้ามาพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงนโยบายทางการเมืองว่าไม่จำเป็นต้องแยกนโยบายสำหรับเด็กหรือเยาวชน เพราะหลายฝ่ายสามารถเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดแต่การส่งเสริมกับเด็กอาจมีโอกาสที่จะเติมเต็มมากกว่า ทั้งนี้ ไอดอลคนหนึ่ง คือ ส.ส. ณัฏฐ์ชนน เนื่องจากเป็นคนที่อภิปรายในสภาได้ดี จากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดโอกาสให้ซักถาม ซึ่งยุวชนฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลาย ๆ ประเด็น เช่น ช่องทางการเข้ามาทำงานการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การทำงานระหว่างพรรคการเมืองมีโอกาสหรือความเป็นไปได้เพียงใด การเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับคนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งจากประเด็นคำถาม นายณัฏฐ์ชนน กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับการหาเสียง ไม่ได้ทำไปเพื่อหาคะแนนเสียง และ เมื่อมาเป็น ส.ส. ก็พยายามทำตัวให้กลมกลืนกับเด็ก ๆ เช่น จัดการแข่งขันกีฬาในโรงเรียนมัธยม การให้ความสำคัญกับการสร้างเมือง การสร้างคน คุณธรรมจริยธรรมนอกจากนี้ รูปแบบการเมืองระดับชาติอาจจะแตกต่างกัน การเมืองระดับชาติเป็นเหมือนเนื้อเดียว เพราะมีการทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญแม้จะต่างพรรคกัน ทั้งนี้ ภาพที่เห็นในการอภิปราย คือ หน้าที่ บทบาท อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างแต่เป็นหน้าที่และบทบาทที่ต้องทำ แต่นอกสภาก็ เมื่อไปต่างพื้นที่ก็จะมีการต้อนรับ การติดต่อระหว่างกัน บรรยากาศไม่แยกฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลแต่อยู่ในประเด็นในกรอบเป็นของการเป็นผู้แทนราษฎร การทำหน้าที่ในสภาต้องทำเต็มที่ไม่ใช่การต่อรองผลประโยชน์ ด้านมุมมองของนายเสมอกัน ต่อการทำงานระหว่างพรรคการเมือง คือ ส.ส. ต้องรู้หน้าที่ บทบาท ต้องเอาหน้าที่เป็นหลัก ไม่ใช่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดของนายณัฏฐ์ชนน
สำหรับในช่วงท้าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองท่านได้กล่าวให้กำลังใจยุวชนประชาธิปไตยและฝากข้อคิดเรื่องการมีความมุ่งมั่น การมีธงของชีวิต การใช้ชีวิตคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเปิดรับสิ่งใหม่ อยากให้ใช้ชีวิตโดยทำในสิ่งที่เราตั้งใจ ทำให้เหมือนว่าพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชาสัมพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ดีด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้เยาวชนได้ตระหนักในหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถาบันนิติบัญญัติอย่างเท่าเทียม โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการเป็นเครือข่ายของรัฐสภา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ/สายอาชีพ และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 15 - 20 ปี โดยสำนักงานฯ ได้เปิดรับสมัครโดยตรง ในการเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 2 คน และตัวแทนกรุงเทพมหานคร 8 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 160 คน กำหนดจัดการอบรมในทุกวันเสาร์ จำนวน 7 สัปดาห์ (สัปดาห์ละ 1 วัน) เวลา 09.00 - 16.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 11 มิ.ย. 65 - วันเสาร์ที่ 23 ก.ค. 65
|