วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.50 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ว่า ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 27 คณะ กมธ.ได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด 24 วัน รวม 214 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 13 กระทรวง 19 หน่วยงาน 14 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 48.1 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด โดยกระทรวงที่ผ่านการพิจารณางบประมาณของคณะ กมธ. แล้ว มีดังนี้ กระทรวงการคลังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย
โดยเมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 65) เป็นการประชุมครั้งที่ 26 คณะ กมธ. ได้พิจารณางบประมาณของหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 9 หน่วยงาน 4 งบกลาง จากทั้งหมด 28 หน่วยงาน 2 กองทุน งบกลาง 4 รายการ และพิจารณางบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ 1 หน่วยงาน ในการพิจารณางบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกฯรัฐมนตรีที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับงบราชการรับจำนวน 60 ล้านบาท ซึ่งคณะ กมธ. ได้สอบถามถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณในส่วนนี้ว่ามีแนวทางการใช้จ่ายอย่างไร โดยทางผู้แทนของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า การใช้จ่ายงบราชการลับ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้งบประมาณ และอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่สำคัญหน่วยงานได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 63 ซึ่งหน่วยงานที่สามารถของบประมาณเงินราชการลับ ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตามการจัดสรรงบประมาณราชการรับต้องทำภายใต้ภารกิจ 4 ประการคือ 1) ภารกิจด้านความมั่นคงและการป้องกันราชอาณาจักร 2) ภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 3) ภารกิจด้านข่าวกรอง 4) ภารกิจอื่น ๆ ที่มีลักษณะปกปิด ซึ่งกรณีที่หน่วยงานอื่น ๆ ขอรับงบประมาณรายการงบราชการรับนี้ทุกส่วนราชการต้องส่งรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบราชการรับให้นายกรัฐมนตรีทราบทุก 3 เดือน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินราชการลับตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ประกอบระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับหรือเงินที่มีลักษณะคล้ายเงินราชการลับ พ.ศ. 2564
นอกจากนี้ คณะ กมธ. ยังได้สอบถามถึงกรณีที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ โดยระบุตอนหนึ่งว่าได้ใช้เงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเติมน้ำมันรถยนต์ จึงได้สอบถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการเบิกค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้แทนของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า การเบิกค่าเชื้อเพลิงของนายกรัฐมนตรีและข้าราชการการเมือง เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดทางเลือกไว้ 3 แนวทางคือ 1) หากเลือกใช้รถยนต์ของราชการต้องใช้เงินส่วนตัวเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2) หากเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งจะมีสิทธิ์ได้รับค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 3) หากเลือกใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตามในกรณีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้เงินส่วนตัวเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ประจำตำแหน่งไม่ได้เบิกจากงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด ส่วนในวันนี้คณะ กมธ. จะพิจารณางบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 17 หน่วยงาน 2 กองทุน และพิจารณางบประมาณของกระทรวงยุติธรรมอีก 5 หน่วยงาน
|