วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 เวลา 11.15 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เรื่อง ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่ สภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... และในวันนี้ ได้พิจารณาแล้วเสร็จและจะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไปนั้น สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย มีข้อกังวลต่อร่างกฎหมายดังกล่าว เกี่ยวกับบทบัญญัติที่คณะ กมธ. ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องจากสมาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทุกสมาคม จึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ. .... ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ได้ช่วยกันพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว ในประเด็นดังต่อไปนี้
1.ยังคงมีบทบัญญัติให้ผู้กำกับดูแล เข้ามาใช้อำนาจอย่างอำนาจบังคับบัญชาสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น คือตั้งกรรมการสอบ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างพิจารณาและสั่งให้พ้นตำแหน่งได้เรื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... เป็นกฎหมายเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนมิใช่ กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแล ดังนั้น เรื่องการกำกับดูแลจะต้องไปบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งไม่ควรนำมาบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติในร่าง พรบ.มาตรา 6 (2) และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 6 (2) กำหนดให้ประชาชน เข้าชื่อเพื่อมอบอำนาจให้ผู้กำกับดูแล (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เข้ามามีบทบาทอำนาจสอบสวนและสั่งแขวนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้ด้วย อันเป็นการใช้อำนาจ เช่นเดียวกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ หากจะบัญญัติหลักการดังกล่าวด้วยเหตุกฎหมายเดิมมีปัญหาว่าประชาชนเข้าชื่อถอดถอนยาก คณะ กมธ. ควรแก้ปรับในส่วนของหลักเกณฑ์การเข้าชื่อ เช่น ลดจำนวนผู้เข้าชื่อ เพื่อให้กฎหมายนี้ใช้ได้จริง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องการเข้าชื่อให้ผู้กำกับดูแล(ผู้ว่าราชการจังหวัด) สอบสวนอีก ทั้งในมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ระบุให้อำนาจจัดทำกฎหมายเพิ่มอำนาจบทบาทให้แก่ ผู้กำกับดูแล บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการให้อำนาจผู้กำกับดูแลเข้ามามีบทบาทในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วย จึงน่าจะเกินกรอบอำนาจที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้
2. ปัญหาการตั้งกรรมการสอบสวนที่ซ้ำซ้อน กับกฎหมายจัดตั้งเป็นการตรากฎหมาย ที่ซ้ำช้อนกับบทบัญญัติของกฎหมายจัดตั้งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มีอำนาจสอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น อยู่แล้ว การบัญญัติกฎหมายขึ้นมาซ้ำช้อน ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้ที่นำกฎหมายไปปฏิบัติ แม้จะเขียนให้รวมสำนวนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนได้ โดยเฉพาะในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายจัดตั้ง ท้องถิ่นทุกประเภท ในปี 2562 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอ ให้มีอำนาจสอบสวน และสั่งแขวนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น อันเป็นอำนาจเช่นเดียวกับ มาตรา 44 ซึ่งบทบัญญัติที่เพิ่มเติมในปี 2562 น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จึงไม่ควรนำบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวมาบรรจุไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน โดยแท้มิใช่กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลของส่วนกลาง แต่อย่างใด
3. เหตุแห่งการตั้งกรรมการสอบสวนของผู้กำกับดูแล ไม่เปิดโอกาสให้ผู้กำกับดูแลใช้ดุลยพินิจว่าเข้าเหตุอันควร ตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่ แต่บัญญัติบังคับผู้กำกับดูแลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามร่าง มาตรา 8 ซึ่งให้นำ มาตรา 7 มาใช้ แม้บัญญัติไว้หลายกรณี แต่ในการพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ไม่ได้ให้อำนาจผู้กำกับดูแลมีอำนาจวินิจฉัยว่าเข้าเหตุอันควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่เมื่อไม่ได้ระบุตัวผู้วินิจฉัยก็ทำให้เรื่องที่ไม่เข้าเหตุดังกล่าว ก็สามารถนำมายื่นได้ ทั้งยังบังคับอีกว่าจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเท่านั้น ผลก็คือ เมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับ บทบัญญัติดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยเมื่อฝ่ายใดประสงค์ จะกลั่นแกลังอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เกณฑ์ประชาชนไปยื่นต่อผู้กำกับดูแล จะเป็นเหตุทำให้ ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนคณะต่างๆ จนไม่มีเวลาปฏิบัติราชการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งให้อำนาจผู้กำกับดูแลมากเกินไปในลักษณะตังกล่าว จะต้องอยู่ในโอวาทของผู้กำกับดูแล จะต้องรับนโยบายของผู้กำกับดูแลมาปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อหลักการปกครองท้องถิ่น ที่ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นจะต้องรับนโยบายจากประชาชนในท้องถิ่นมาปฏิบัติ
4. ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการลงคะแนนโดยลับอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ กำหนดให้ประชาชนเข้าชื่อมีการนำชื่อประชาชนมาเปิดเผย และให้ผู้ถูกถอดถอนพ้นตำแหน่งทันที การทำชื่อของประชาชนให้ถูกเปิดเผยเป็นหลักฐานการเลือกข้างทั้งปรากฏต่อตัวผู้ถูกถอดถอน และปรากฏต่อประชาชนอีกฝ่าย จะก่อให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในท้องถิ่น และทำให้การใช้สิทธิเข้าชื่อตามกฎหมายนี้เกิดความไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยของประชาชนที่เข้าชื่อถอดถอน โดยเฉพาะง่ายต่อการใช้เงินซื้อเพื่อให้เข้าชื่อ หรือเพื่อให้ถอนชื่อเพราะกลุ่มเป้าหมายที่ใช้เงินซื้อไปเข้าชื่อหรือไปถอนชื่อหรือไม่ มีผลตามรายชื่อที่เปิดเผยที่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ฝ่ายที่มีเงินมากจะใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการจ้างให้เข้าชื่อฝ่ายตรงข้าม และจ้างให้ถอนชื่อออกในกรณีตนเองเป็นฝ่ายถูกถอดถอน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทบัญญัติที่ เพิ่มกระบวนการลงคะแนนถอดถอนโดยลับด้วย ทั้งเป็นกระบวนการที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับเดิม และกฎหมายในเรื่องนี้ของต่างประเทศทั่วโลก ล้วนแต่มีหลักการลงคะแนนโดยลับเป็นสาระสำคัญทั้งสิ้น และการเพิ่มเติมกระบวนการดังกล่าวเข้ามาในร่างกฎหมายที่กระทำในชั้นคณะ กมธ. ไม่ได้เป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญ หรือนอกเหนือหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการมาแต่อย่างใด กรณีเขียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอเข้ามามีอำนาจสอบสวนเพื่อถอดถอนต่างหาก ที่เป็นการจัดทำกฎหมายเกินกรอบอำนาจในมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญดังนั้น ในนามสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ช่วยกันพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อไป
ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ กล่าวว่า นำเรื่องดังกล่าวดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
|