FONTSIZE
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติบรรยายเรื่อง บทบาทผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้เข้าอบรมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองของเยาวชนฯ กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ประจำปี 2565

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 25 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 - 11.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักประชาสัมพันธ์ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติบรรยายเรื่อง “บทบาทผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้เข้าอบรมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นพลเมืองของเยาวชนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ประจำปี 2565 โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ และน.ส.จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ร่วมรับฟัง 

โอกาสนี้ นายชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวถึงบทบาทผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรว่า ความเป็นมาของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ได้บัญญัติไว้ว่าให้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และให้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้ นับจากนั้นก็มีบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ใช้ในปัจจุบันได้บัญญัติว่าภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในขณะนั้น คือ 137 คน และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ประธาน หรือรองประธาน ตนในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร การที่ต้องมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากว่าหัวใจสำคัญของหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 
1. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน 
2. สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค 
3. หลักปกครองด้วยเสียงข้างมากที่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย (Majority Rule, Minority Rights) ตรงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ซึ่งหลักการนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากหลักการนี้ไม่เกิด ประเทศชาติบ้านเมืองนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากเสียงข้างมากไม่ยอมรับฟังเสียงข้างน้อย หรือเสียงข้างน้อยเองไม่ยอมให้เสียงข้างมากทำหน้าที่ในการปกครอง 
4. ยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม (Rule of Law) กฎหมายบังคับใช้กับคนทุกคน และทุกคนต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย 

สำหรับบทบาทหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นไปตามหลักปกครองด้วยเสียงข้างมากที่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย (Majority Rule, Minority Rights) โดยการนำพาสมาชิกพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ผ่านกลไกการตรวจสอบ เช่น การตั้งกระทู้ถาม ซึ่งมีกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป กระทู้ถามแยกเฉพาะ กลไกของกรรมาธิการ ซึ่งจะมีทั้งกรรมาธิการสามัญ และกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการคือ พิจารณากฎหมายศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ  ตลอดจนพิจารณาประเด็นปัญหาเฉพาะด้าน ตลอดจนใช้กลไกของการเสนอญัตติต่าง ๆ เช่น ญัตติด่วนด้วยวาจา หรือญัตติด่วนเป็นหนังสือเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติในเรื่องต่าง ๆ อันจะเป็นการควบคุมการทำหน้าที่ของรัฐบาล และกลไกสำคัญก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 65 ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมจำนวน 11 คน การขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นถือเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มข้นที่สุด เพื่อตรวจสอบและควบคุมการทำหน้าที่ของรัฐบาล อันถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพรรคฝ่ายค้านและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้แล้วบทบาทหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คือ  การนำพาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบันมีพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่จำนวน 7 พรรค ให้ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ทั้งนี้พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่ตรวจสอบผ่านกลไกการทำงานต่าง ๆ เช่น การตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้กลไกการประชุมร่วมกันของพรรคฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดแนวทางและทิศทางการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน และการแสดงออกของพรรคฝ่ายค้านในแต่ละสัปดาห์ โดยจะมีการประชุมกันทุกวันจันทร์ 

ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นการมอบอำนาจหน้าที่จากประชาชนให้มาทำหน้าที่แทน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการมีคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงาน การมีกลไกต่าง ๆ ของรัฐสภาแล้ว การทำหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและพรรคฝ่ายค้านจึงได้มีโครงการผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชนทุกรอบปี โดยในปีนี้จัดมาแล้ว 4 ครั้ง เพื่อลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน เปิดเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แล้วรวบรวมปัญหากลับมายังสภาเพื่อนำไปสู่กลไกการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน หากเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้กลไกสภาก็จะใช้กลไกของสภาผ่านการตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติ และกรรมาธิการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการทำหนังสือกราบเรียนไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสะท้อนปัญหาไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนต่อไป สิ่งเหล่านี้คือกลไกการทำงานของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และพรรคฝ่ายค้าน 

การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนสำคัญที่สุด เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ถ้าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วประชาธิปไตยจะเกิดไม่ได้ ทั้งนี้ การทำหน้าที่ใด ๆ ก็แล้วแต่เป็นไปตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญ 4 หลักตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ต้องเชื่อมั่นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และให้ประชาชนมีโอกาสใช้อำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งใดที่บิดเบี้ยวต้องช่วยกันแก้ไข การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภาในขณะนี้พบว่ามีปัญหามาก มีพรรคเล็กที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่มีเสรีภาพในการออกเสียง ซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน ประชาธิปไตยจึงจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริง เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภาที่พี่น้องประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค มีหลักนิติรัฐนิติธรรม ใช้หลักกฎหมายในการปกครองและเคารพในเสียงข้างน้อย ยอมรับการปกครองในเสียงข้างมากก็จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยและกิจกรรมสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชาสัมพันธ์จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ดีด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้เยาวชนได้ตระหนักในหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถาบันนิติบัญญัติอย่างเท่าเทียม ด้วยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการเป็นเครือข่ายของรัฐสภา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 15 - 20 ปี ซึ่งสำนักงานฯ ได้เปิดรับสมัครโดยตรงจากตัวแทนของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 2 คน และตัวแทนกรุงเทพมหานคร 8 คน จำนวนรวมทั้งสิ้น 160 คน

download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562