วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 11.40 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ โฆษกคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... แถลงข่าวว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้มีการประชุม จำนวน 6 ครั้ง และได้มีความเห็นร่วมกันโดยมีการเสนอข้อสังเกต ดังนี้ 1. คณะกรรมาธิการร่วมกันเห็นควรให้แก้ไขเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ดังนี้ "โดยที่ได้มีการยกเลิกการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ประชาชนจึงสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ ประกอบกับเป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ จึงสมควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาพืชกระท่อมให้เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแลเฉพาะการนำเข้าหรือการส่งออกใบกระท่อมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และโดยที่การบริโภคใบกระท่อมมากเกินสมควรอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อม เพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่นจากการบริโภคใบกระท่อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้" 2. รัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติทางประโยชน์ทางการแพทย์และผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในระยะยาวที่เกิดจากการบริโภคใบกระท่อม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป 3. รัฐพึงสนับสนุนให้มีการใช้ใบกระท่อมตามวิถีชุมชนและการใช้ประโยชน์จากใบกระท่อมทางยาหรือทางการแพทย์ แต่ต้องไม่เป็นการสนับสนุนให้เกิดผู้ใช้รายใหม่ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ใบกระท่อมในทางที่ไม่เหมาะสม 4. รัฐพึงสนับสนุนให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และยั่งยืนจากพืชกระท่อม สนับสนุนการส่งออกพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ไม่ควรให้มีแต่เฉพาะผู้ค้ารายใหญ่ที่จะครองส่วนแบ่งทางการตลาดจากพืชกระท่อม รวมถึงการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการผูกขาดการเพาะหรือปลูกพืชกระท่อม การขาย และการนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม 5. รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้เพาะปลูกพืชกระท่อม ผู้ค้าใบกระท่อม และอุตสาหกรรมพืชกระท่อมในประเทศ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีแรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรไทยและผู้ผลิตรายย่อยภายในประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป
|