วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 11.10 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร และศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด เพื่อติดตามการเยียวยา และชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดในสุกร
ตามที่สหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ได้รับความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดในสุกร จากนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 65 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการ ดังนี้ 1. เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 65 ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดในสุกร ของสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 38 ราย เขตอำเภอพนมสารคาม อำเภอแปลงยาว อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาส์น อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ พบว่า 38 ฟาร์ม ไม่มีสุกรที่มีชีวิตเหลืออยู่ 2. สรุปผลการประชุมคณะ กมธ.เกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 67 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 เรื่อง "แนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF)" โดยกรมปศุสัตว์ได้รายงานสถานการณ์จังหวัดที่พบโรค ASF ในสุกรตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 65 จนถึง ปัจจุบัน แต่ไม่มีการรายงานจังหวัดที่เป็นโรคระบาดในสุกร อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และราชบุรี 3. เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ จึงขอให้คณะ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาติดตามเร่งรัดการเยียวยาและชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดในสุกร และนำไปสู่การฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสุกรโดยเร็ว ดังนี้ 1) เยียวยา หรือชดเชยความเสียหายให้กับสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 38 ราย มูลค่าความเสียหาย 139,411,050 บาท 2) พื้นฟู อาชีพการเลี้ยงสุกรให้แก่สมาชิกสหกรณ์ โดยรัฐจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ย วงเงิน 100,000,000 บาท 3) พัฒนาสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด ให้มีห้อง LAB เพื่อสามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อโรคระบาด และวินิจฉัยโรคได้ทันกับสถานการณ์
ด้านนายวีระกร คำประกอบ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตสุกรเพื่อบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะ กมธ. ซึ่งได้มีการพิจารณาและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1. รัฐบาลต้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน และปลอดเงินต้น 2 ปี สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรไม่เกิน 50 ตัว เสนอเงินทุนให้ 2.5 แสนบาท 2. กรมปศุสัตว์จัดหาลูกสุกรหย่านมน้ำหนักตัว 16 กิโลกรัม ขายให้เกษตรกรในราคาไม่เกินตัวละ 2,000 บาท รวมถึงแม่พันธุ์ 3. กรมปศุสัตว์ต้องตรวจสอบพื้นที่โรคระบาดว่ามีความปลอดภัย สามารถเปิดฟาร์มได้ และเน้นให้เกษตรกรสร้างฟาร์มแบบใหม่ มีโรงเรือนปิด เพิ่มความปลอดภัยจากทั้งแมลง ฝุ่น หรือเชื้อโรคจากคน และออกใบรับรองมาตรฐานฟาร์มให้เกษตรกรนำไปยื่นกู้ 4. จัดอบรมอาสาปศุสัตว์และเกษตรกรรายย่อย 5. จัดอบรมอาสาปศุสัตว์อำเภอให้มีความรู้ มีทักษะ และความสามารถในการเลี้ยงสุกร 6. ลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองร้อยละ 100 เป็นการชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น คณะ กมธ.ฯ ได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการนำข้าวกะเทาะเปลือก ทั้งข้าวสาลี และข้าวกล้อง เพื่อมาทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
|