วันพุธที่ 2 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... นายบัญญัติ เจตนจันทร์ โฆษกคณะ กมธ. น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ เลขานุการคณะ กมธ. และคณะ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าผลการประชุมคณะ กมธ. โดยคณะ กมธ. ได้มีการประชุมมาแล้ว จำนวน 4 ครั้ง ดังนี้ 1) วันพุธที่ 2 ก.พ. 65 เพื่อพิจารณาเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นประธาน 2) วันพุธที่ 9 ก.พ. 64 เพื่อพิจารณาเรื่อง ภาพรวมการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผ่านมา โดยมีนายชัยณรงค์ กัจฉาปานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะ กมธ. ในฐานะผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ข้อมูลต่อที่ประชุม 3) วันพุธที่ 23 ก.พ. 65 เพื่อพิจารณาเรื่อง ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่ (..) พ.ศ. ....โดยเชิญ กรมบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เข้าร่วมประชุม 4) วันพุธที่ 2 มี.ค. 65 เพื่อพิจารณาเรื่อง สถานการณ์ความต้องการแรงงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานในอนาคต เพื่อประกอบความเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยเชิญ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน เข้าร่วมประชุม และที่ประชุมได้กำหนดนัดประชุมครั้งต่อไป ในวันพุธที่ 9 มี.ค. 65 เพื่อพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายมาตรา ทั้งนี้ คณะ กมธ. มีความห่วงใยนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุนฯ แต่ยังไม่มีงานทำ หรือว่า จนทำให้ไม่มีเงินมาชำระหนี้ จึงต้องหาทางแก้ไข โดยเบื้องต้นจะชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน 1 ปี
นายบัญญัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาโดยใช้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขขยายโอกาสการเข้าถึงกองทุนฯ เพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ชำระเงินกองทุนตามความสามารถและความมีวินัยในการชำระเงิน สร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ มีเงิน จากการชำระหนี้จากรุ่นพี่มาให้รุ่นน้องได้กู้ยืมเงินต่อไป เมื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผ่านความเห็นสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กองทุนฯ นี้จะเป็นกองทุนที่มีความยั่งยืน และมีความสามารถในการทำงานเชิงรุกทำให้กองทุนเติบโต เพื่อตอบโจทย์เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
น.ส. ผ่องศรี กล่าวว่า คณะ กมธ. ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ของพี่น้องประชาชนที่ยังไม่มีเงินชำระหนี้ เพื่อให้กองทุนฯ ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ ในการให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพพลเมืองของประเทศให้มีวินัย มีคุณธรรมเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ โดยการทำงานของกองทุนฯ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว
|