วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีมอบประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ เข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้า
โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงาน ในการนี้ มีผู้ผ่านการอบรมและเข้ารับประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ เข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้า รวมทั้งสิ้น 510 ราย โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมด้วย
ในโอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้รับพระราชทานเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า ชั้นที่ 2 ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิและได้บำเพ็ญประโยชน์แก่งานของสถาบันพระปกเกล้า และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ พร้อมเข็มพระปกเกล้า โดยผู้เข้ารับประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) ผู้เข้ารับประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ พร้อมเข็มพระปกเกล้า ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศชาติและสถาบันพระปกเกล้าอันเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 2 ราย 2) ผู้เข้ารับเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสถาบันพระปกเกล้าอันเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 5 ราย 3) ผู้เข้ารับประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้า รวม 4 หลักสูตร ประกอบด้วย (1) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 23 จำนวน 149 ราย (2) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 19 จำนวน 148 ราย (3) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 18 จำนวน 117 ราย และ (4) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 11 จำนวน 89 ราย
สำหรับหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันพระปกเกล้านั้น เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการระดับสูง พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับบริหาร บุคลากรภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนและผู้บริหารจากองค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ระบบกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เป็นการเสริมสร้างเจตคติ ค่านิยมแนวคิด และวิถีชีวิตประชาธิปไตย ทั้งยังเพิ่มพูนทักษะการวิเคราะห์พฤติกรรมประชาธิปไตยอันเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในสังคมประชาธิปไตยตามบทบาทที่มีในแนวทางที่สร้างสรรค์ อันจะเป็นการพัฒนาและเผยแพร่วิถีประชาธิปไตยให้เกิดสันติสุขสถาพรต่อไป |