วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสุเทพ อู่อ้น น.ส.วรรณวิภา ไม้สน นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. .... รวม 10 ฉบับ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับมอบ
นายพิธา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและคุ้มครองคุณภาพในการทำงาน และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องแรงงานมีความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น ด้านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำร่างดังกล่าวกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร และดำเนินการตามกระบวนการของการนำเสนอกฎหมายต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกทุกท่านที่ได้ร่วมกันเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องแรงงาน
จากนั้น นายสุเทพ อู่อั้น กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดในการแก้ไข คือ แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 10 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 แก้ไขมาตรา 4 ให้ พ.ร.บ. บังคับใช้ราชการ ราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ฉบับที่ 2 แก้ไขมาตรา 5 จ้างงานรายเดือน งานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา ฉบับที่ 3 แก้ไขมาตรา 15 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ฉบับที่ 4 แก้ไขมาตรา 23 ชั่วโมงการทำงานทั้งสิ้นในสัปดาห์ต้องไม่เกิน 50 ชั่วโมง ฉบับที่ 5 แก้ไขมาตรา 28 จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดสัปดาห์ต้องไม่น้อยกว่า 2 วัน ซึ่งระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน ฉบับที่ 6 แก้ไขมาตรา 30 สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 10 วัน ฉบับที่ 7 แก้ไขมาตรา 41 สิทธิลาคลอดบุตรได้ไม่น้อยกว่า 180 วัน ฉบับที่ 8 แก้ไขมาตรา 53 ลักษณะงานอย่างเดียวปริมาณเท่ากัน อัตรา ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด จ้างเท่าเทียมกัน ฉบับที่ 9 แก้ไขมาตรา 87 กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้าง อัตราค่าจ้าง โดยปรับทุกปีตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น (GDP/CPI) ฉบับที่ 10 เพิ่มมาตรา 23/1 การจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน ต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด |