วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.40 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ รองประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ คนที่สาม และคณะ แถลงข่าวเกี่ยวกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ภัยทางธรรมชาติ และการคุกคามจากมนุษย์ โดยปัจจุบันสาเหตุหลักของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมาจากการแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย ด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ไม่คำนึงถึงระบบธรรมชาติของทะเล ส่งผลให้หาดทรายเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ซึ่งคณะ กมธ.พิจารณาแล้ว พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กล่าวมานั้น มีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงนโยบายที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้
1. การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA) ทำให้เกิดกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายหาด เป็นการทำลายหลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจนเป็นคดีความ ไม่น้อยกว่า 3 คดี ได้แก่ คดีอ่าวน้อย คดีหาดม่วงงาม และคดีหาดมหาราช
2. การที่รัฐไม่ส่งเสริมความรู้ในการจัดการชายฝั่ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการทรัพยากรชายหาด ทำให้ชุมชนไม่มีความรู้ และไม่สามารถเข้าร่วมกำหนดเจตจำนงของตนในการจัดการทรัพยากรชายหาดอย่างแท้จริง
3. การกำหนดมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ อาทิ เมื่อเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพียงชั่วคราวในช่วงมรสุม แต่รัฐกลับดำเนินมาตรการถาวร เช่น จัดทำกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดที่มีการกัดเซาะชายฝั่งระยะสั้น เป็นต้น
4. การที่รัฐไม่สนับสนุนและผลักดันมาตรการอื่น ๆ ในการฟื้นฟูชายฝั่งและปรับสมดุลให้แก่ธรรมชาติ อาทิ การเติมทราย การถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ การกำหนดแนวถอยร่น การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์เพื่อคุ้มครองชายฝั่ง รวมถึงการรื้อถอนโครงสร้างที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นฟูสภาพ
5. ปัญหาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ทับซ้อนกันในการแก้ไขปัญหา ทำให้หลายพื้นที่ชายหาดมีมาตรการป้องกันชายฝั่งที่ทับซ้อนกัน เกิดความไม่เป็นเอกภาพ และไม่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
6. การที่รัฐไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้ท้องถิ่นซึ่งมีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่ารัฐส่วนกลาง และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของพื้นที่ได้ดีกว่าไม่สามารถแก้ไขหรือจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เพราะไม่มีอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการ
7. ปัญหาการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยปัจจุบันการตัดสินใจดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ประชาชนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานกำหนดรูปแบบโครงการมาให้ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะ ชายฝั่งได้
8. กระบวนการในการพิจารณาอนุมัติโครงการกำแพงเขื่อนกันเคลื่อนที่ใช้เพียงชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลเท่านั้น ทำให้โครงการขาดความรอบคอบ และขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น |