การประชุมช่วงที่ 4 ภายใต้หัวข้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความจริงและรุนแรงขึ้น : เราจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้ (Climate change is real and its intensifying: What are we doing about it?) เริ่มต้นขึ้นโดยการนำเสนอของ Ms. Maisa Rojas ผู้อำนวยการศูนย์สภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟู มหาวิทยาลัยชิลี และผู้ประสานงานการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (คณะทำงานกลุ่มที่ 1) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 6 (The 6th Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change :IPCC) ซึ่งได้กล่าวถึงผลการวิจัยสภาพภูมิอากาศในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา พบว่า วิกฤตโลกร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส อันก่อให้เกิดการละลายของน้ำแข็งบนเปลือกโลก ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น และการลดลงของปริมาณออกซิเจนในมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมีอยู่ของสัตว์โลกใต้ทะเล และปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติในทุกทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบกับปัญหาภัยพิบัติขนาดใหญ่ รุนแรง และมีความถี่มากขึ้นกว่าเดิมในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายละเอียดของการวิจัยในรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนต.ค. ถึง พ.ย. ที่จะถึงนี้ต่อไป
การประชุมช่วงที่ 5 หัวข้อ การลงทุนในอนาคต : สู่ความยั่งยืนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง (Investing in the future: Towards a sustainable and resilient recovery of our economies) เริ่มต้นขึ้นโดยการนำเสนอของ Mr. Andrew Raine หัวหน้าฝ่ายกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกล่าวถึงข้อมูลจากการรวบรวมของสหประชาชาติพบว่าการลงทุนของภาครัฐบาลทั่วโลกว่าด้วยการพัฒนามีจำนวนรวมกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในด้านงบประมาณการลงทุนของภาครัฐพบว่า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาครัฐที่ได้ลงทุนไปทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมนั้น มีเพียง 1 ใน 3 ส่วน ที่อาจกล่าวได้ว่าสนับสนุนหรือสอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสีเขียว อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมเนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงมีปริมาณมาก และนานาประเทศยังไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ได้เคยกำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส ทั้งนี้ Mr. Andrew Raine ได้เน้นย้ำถึงสถานะพิเศษของฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะตัวแปรหลักสำคัญ ซึ่งเป็นผู้วางกรอบและสรรค์สร้างกระบวนการสร้างอนาคตใหม่ของโลกผ่านการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายให้แก่อนุชนรุ่นหลัง