วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 10.45 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ (โซนกลาง) ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะ กมธ. การแรงงาน รับยื่นหนังสือจาก นายไพรัต อุดมไพรพฤกษ์ นายกสมาคมพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กไทย เรื่อง ขอให้พิจารณาทบทวนเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน
ด้วยสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนเป็นหน่วยงานหนึ่งในกลุ่มสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีจำนวนทั่วประเทศทั้งสิ้น 1,356 แห่ง มีบุคลากรจำนวน 7,277 คน และเด็กภายใต้การดูแลจำนวน 64,170 คน โดยภารกิจของสถานรับเลี้ยงเด็ก นอกจะดูแลสุขอนามัยประจำวันแล้ว ยังส่งเสริมการเรียนรู้ตามช่วงวัยเพื่อสร้างพัฒนาการที่สมวัยในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมการจัดการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กและครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมด้านโภชนาการและช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองในช่วงเวลาที่ต้องออกไปทำงาน อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระลอกที่สอง ช่วงต้นปี 2564 มีสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนที่ต้องถูกปิดโดยคำสั่งจากภาครัฐ จำนวน 733 แห่ง ทำให้มีบุคลากรว่างงานและขาดรายได้จำนวนกว่า 6,000 คน และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบกว่า 35,000 ครอบครัว ซึ่งตลอดสองปีที่ผ่านมา สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนต้องปิดกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลานานกว่า 9 เดือน ส่งผลให้ขาดรายได้และได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,205 ล้านบาท จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาดังนี้ 1. นโยบายช่วยเหลือผ่านการลดดอกเบี้ย หรือการสนับสนุนให้เข้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน 2. การชดเชยเยียวยาจากประกันสังคมร้อยละ 50 ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่รัฐสั่งปิดกิจการ โดยต้องทำเอกสารจำนวนมากและได้รับการช่วยเหลือเพียง 90 วัน แม้ว่าจะถูกสั่งปิดมาเป็นระยะเวลายาวนาน 3. การจ่ายเงินชดเชยเพิ่มให้กับลูกจ้าง จำนวน 2,500 บาท และนายจ้าง จำนวน 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติม ทางสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนไม่สามารถรับสิทธิ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ถูกบรรจุในหมวดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ 4. มาตรการส่งเสริมธุรกิจจากกระทรวงการคลังไม่ครอบคลุมธุรกิจสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ทั้งที่เป็นธุรกิจทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง และได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยว 5. สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนไม่เคยได้รับความเท่าเทียมในการบริหารจัดการ ทั้งที่เป็นผู้เสียภาษีแบบธุรกิจและถูกตรวจสอบมาตรฐานเดียวกับสถานศึกษา 6. สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนถูกสั่งปิดทั้งที่ไม่เคยเกิดการแพร่ระบาดจนเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนมาตรการดังกล่าวอีกครั้ง
ด้าน นายสุเทพ อู่อ้น กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ผู้ประกอบอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ถือเป็นกลุ่มสาขาอาชีพอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นผู้ตกหล่นในการได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล โดยทางคณะ กมธ. จะนำเข้าเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระประชุมในวันพุธหน้า (15 ก.ย. 64) และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
|