วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ จุดให้สัมภาษณ์ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แถลงข่าวเกี่ยวกับการประชุมคณะ กมธ. เพื่อพิจารณารายการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (31 ก.ค. 64) โดยเป็นการแปรญัตติขอคืนงบประมาณที่คณะ กมธ. ปรับลดหลังผ่านการอุทธรณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว เป็นวงเงิน 16,300 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการพิจารณาดังกล่าวยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ที่ประชุมจึงได้นัดพิจารณาอีกครั้งในวันนี้ เวลา 13.30 นาฬิกา
สำหรับการแปรญัตติขอคืนงบประมาณที่คณะ กมธ. ปรับลดมีการเสนอทั้งหมด 2 ญัตติ คือ 1. ญัตติที่เสนอโดย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่เก้า โดยขอคืนงบประมาณไปยังงบกลางเป็นจำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจัดสรรไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานอัยการสูงสุด และอื่น ๆ 2. ญัตติที่เสนอโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กมธ. โดยขอคืนงบประมาณไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินในช่วงปี 2563 2564 จำนวนเงิน 13,200 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจัดสรรไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร และกองทุนประกันสังคม
โดยตั้งข้อสังเกตว่าญัตติที่เสนอโดย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ มีความไม่เหมาะสมหลายประการ ดังนี้ 1. การขอคืนงบประมาณไปยังงบกลางเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งจะอนุมัติ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณในงบกลาง และหากมีการใช้งบกลางจนหมด รัฐบาลก็ยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 50,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 2. การโอนงบประมาณที่เหลือไปยังงบกลางทำให้การดำเนินการตรวจสอบเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นอำนาจเต็มของนายกรัฐมนตรีในการอนุมัติงบประมาณต่าง ๆ และที่ผ่านมาฝ่ายค้านเคยขอข้อมูลจากสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานต่าง ๆ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูล 3. มีหน่วยงานที่ถูกปรับลดงบประมาณจากปี 2564 และมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนประกันสังคม เพื่อนำมาช่วยเหลือเยียวยาและบริหารจัดการในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันติดตามการลงมติในช่วงบ่ายวันนี้ ว่าคณะ กมธ. จะคืนงบประมาณให้กับหน่วยงานใดบ้าง และจะเป็นการคืนงบประมาณเพื่อสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่
|