วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.30 นาฬิกา ณ จุดให้สัมภาษณ์ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ประธานคณะอนุ กมธ.เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในคณะ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการคณะอนุ กมธ. แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการมรดกโลก ประกาศให้ป่าแก่งกระจาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยให้ข้อสังเกตและข้อกังวลต่อการประกาศดังกล่าว ดังนี้ 1. คณะกรรมการ 21 ชาติ รวมทั้งประเทศไทย ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกให้เป็นมรดกโลก ซึ่งไม่ได้มีการพิจารณาในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าให้ชะลอการขึ้นทะเบียนพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงที่บางกลอย 2. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 คณะอนุ กมธ.เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้หารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่ง กสม. ได้มีข้อสังเกตเสนอแนะให้รัฐบาลชะลอการประกาศหรือการเสนอป่าแก่งประจานเป็นมรดกโลก แต่รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับนำเสนอ จนในที่สุดได้มีการขึ้นทะเบียนให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก 3. ในรายงานของคณะ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาและตอบกลับมายังคณะ กมธ. ว่าให้ชะลอหรือหยุดดำเนินคดีกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมรดกโลก ได้ให้ข้อสังเกตกับประเทศไทยต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของป่าแก่งกระจาน 3 ข้อ ดังนี้ 1. ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการปรับปรุงขอบเขตพื้นที่มรดกโลกบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างรัฐภาคี ได้แก่ ประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 2. ต้องรับประกันว่าจะมีการคุ้มครองและบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกอย่างเต็มที่ 3. ต้องรับประกันว่าจะมีการปรึกษาหารือร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่มรดกโลก
โดยประเทศไทยจะต้องรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการเหล่านี้ให้แก่คณะกรรมการมรดกโลกทราบในวันที่ 1 ธ.ค. 64 ดังนั้น คณะอนุ กมธ. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. รัฐต้องยอมรับการมีตัวตนและการมีอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงในเขตมรดกโลกแก่งกระจานในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2561 2. รัฐต้องให้ความคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมให้สามารถดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักการในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้สำรวจที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตามมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 3. รัฐต้องยุติการจับกุม การดำเนินคดี และถอนฟ้องชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม 28 คน ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่มรดกโลกที่ได้อยู่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ รวมทั้งสนับสนุนให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่มรดกโลก 4. รัฐต้องเร่งรัดในการเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการยกร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว
|