เมื่อวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 19.00 21.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา และ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 65 (The Parliamentary Meeting on the occasion of the 65th Commission on the Status of Women CSW65) ผ่านระบบการประชุมทางไกล Interprefy จัดโดยสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 80 คน จากนานาประเทศทั่วโลก
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเสริมพลังสตรี (Women empowerment) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้หัวข้อหลัก มาตรการเพื่อบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในโลกยุคหลัง COVID-19 (What will it take to reach gender parity in political participation in a post-COVID-19 world?)" สำหรับผลลัพธ์ที่รวบรวมได้จากการประชุมจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 65 ของสหประชาชาติ ซึ่งมีกำหนดประชุมในเดือนมิถุนายน 2564 ต่อไป
ในการนี้ สมาชิกรัฐสภาไทยได้ร่วมอภิปรายในการประชุม ช่วงที่หนึ่ง ในหัวข้อ การมีส่วนร่วมของสตรีในรัฐสภาในปี 2564 และผลกระทบของ COVID-19 (Womens participation in parliament in 2021 and the impact of COVID-19) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (Member of the IPU Bureau of Women Parliamentarians) ได้อภิปรายเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อส่งเสริมพลังสตรีของไทยและรัฐสภาไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้รัฐจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย (Gender Responsive Budget : GRB) เพื่อความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มในสังคมไทย ตลอดจนบัญญัติให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นกับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหลักการที่นำมาสู่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ในฐานะกฎหมายฉบับแรกของไทยที่ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของสตรีในรัฐสภาไทยดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง สะท้อนจากบทบาทของ ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย โดยเฉพาะในยามวิกฤติ COVID-19 ซึ่งชมรมได้จัดกิจกรรมเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่โดยรอบรัฐสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งระบุให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อโดยคำนึงความเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรี คิดเป็นร้อยละ 15.8 ในช่วงท้าย นางสุวรรณีฯ ได้เรียกร้องให้รัฐสภาทั่วโลกส่งเสริมสมาชิกรัฐสภาสตรี ด้วยการยกระดับขีดความสามารถในด้านวิชาการและองค์ความรู้ทางสารสนเทศเพื่อผลักดันให้สตรี เด็กผู้หญิง และกลุ่มประชากรที่เปราะบางเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองในภาวะของการแพร่ระบาดใหญ่นี้และต่อไปในอนาคต