วันอังคารที่16 มีนาคม 2564 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา พลเอก ทวีป เนตรนิยม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย และน.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการสัมมนาทางไกลระดับภูมิภาคของกลุ่มรัฐสภาว่าด้วยอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา (PFSALW) ผ่านกรอบความร่วมมือสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) หรือ AIPA-PFSALW ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกิจการการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office of Disarmament Affairs : UNODA) และ Trust Facility Supporting Cooperation on Arms Regulation (UNSCAR) การสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของฝ่ายนิติบัญญัติต่อสนธิสัญญาการค้าอาวุธและการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการของสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหาอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา (United Nations Programme of Action on Small Arms and Light Weapons: UN PoA) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงประเด็นข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับวาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง (Women Peace and Security: WPS) และวาระ 2030 ของสหประชาชาติ (The 2030 Agenda) ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยการส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ข้อที่ 4 เรื่องการลดการลักลอบการเคลื่อนย้ายอาวุธ ในการนี้ น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมโดยมีสาระสำคัญคือ รัฐสภาไทยตระหนักถึงผลกระทบระดับโลกที่เกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา และให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้ง โดยได้กำหนดมาตรการ กลไก เพื่อลดผลกระทบจากประเด็นปัญหาดังกล่าวต่อสังคมในทุกระดับ ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) และคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Peace Agenda of Women: PAOW) เป็นต้น ทั้งนี้ พลเอก ทวีป เนตรนิยม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายในช่วง การมีส่วนร่วมและการดำเนินการของรัฐสภาต่อแผนปฏิบัติการสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหาอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับวาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง และวาระ 2030 โดยกล่าวถึง หน้าที่ของฝ่ายรัฐสภาในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งปัญหาของอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อ การบรรลุแผนปฏิบัติการสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหาอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง และวาระ 2030 ซึ่งมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน และเห็นว่ารัฐสภาสามารถสนับสนุนการทำงานเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวได้ใน 4 ประเด็นได้แก่ 1. การยกระดับการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ ทั้งในการทบทวน ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการริเริ่มตรากฎหมายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการต่อปัญหาอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา 2. การดำเนินการให้กฎหมายภายในประเทศสอดรับกับแผนปฏิบัติการสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหาอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา และกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค และระดับโลก 3. สร้างความตระหนักรู้และความรู้ความเข้าใจต่อผลกระทบทางลบที่เกิดจากปัญหาอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา 4. การสร้างเครือข่ายระหว่างรัฐสภาเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะ ประสบการณ์ และการปฏิบัติที่เป็นเลิศต่อเรื่องดังกล่าว
เครดิต : ข่าว กลุ่มงานสมัชชารัฐสภาอาเซียน สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เครดิต : ภาพ กลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |