วันศุกร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๑๐ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจ หรือ SMEs รอบใหม่ และขอเสนอมาตรการ ๒ มาตรการ ดังนี้ ๑. แก้ไข พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือ SMEs ได้จริง โดยในปัจจุบันมีการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเพียงจำนวน ๗๔,๐๐๐ ราย หรือเพียงร้อยละ ๒ จากจำนวน ๓.๑ ล้านราย เป็นวงเงิน ๑๒๓,๐๐๐ ล้านบาท และยังมี SMEs จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้ เนื่องจากเงื่อนไขและข้อกำหนดของรัฐบาล พรรคก้าวไกล ขอเสนอ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ พ.ศ. .... ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ๔ ประเด็น คือ ๑) ให้ SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ได้ และกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กันวงเงินสำหรับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ และธุรกิจที่มีประวัติการจ่ายภาษี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยา SMEs ได้อย่างทั่วถึง ๒) เพิ่มระยะเวลาผ่อน Soft Loan จาก ๒ ปี เป็น ๕ ปี ๓) เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๒ เป็นร้อยละ ๕ สำหรับผู้กู้ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร ๔) เพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหาย กรณีหนี้เสียจากเดิมร้อยละ ๖๐ - ๗๐ เป็นไม่เกินร้อยละ ๘๐ ๒. โครงการสินเชื่อคืนภาษี ๑๐ ปี เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ได้ทุกราย โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อจากยอดรวมภาษีที่ผู้ประกอบการจ่ายให้รัฐตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีบุคคลธรรมดา ให้เป็นสิทธิของผู้ประกอบการในการขอกู้ได้ทันที ซึ่งมาตรดังกล่าวเป็นมาตรการที่สามารถทำได้จริงเนื่องจากธนาคารของภาครัฐมีสภาพคล่องเพียงพอสามารถช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพได้ทุกราย
|