วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๒๕ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (๑ ธ.ค. ๖๓) จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีวาระที่สำคัญ ดังนี้ วาระที่ ๑ เรื่องที่คณะ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะ กมธ. ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการแปรญัตติ และไม่มีการขอสงวนความเห็น ซึ่ง เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมได้อย่างรวดเร็ว วาระที่ ๒ เรื่องด่วน มีจำนวน ๓ เรื่อง คือ เรื่อง ๑ เรื่องที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการคือให้มีกฎหมายว่าด้วย การออกเสียงประชามติ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับ กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เสนอมาเมื่อวันที่ ๔ พ.ย. ๖๓ และรัฐสภาได้บรรจุในระเบียบวาระเพื่อ พิจารณาในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นไปตาม ม. ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอมาเมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๖๓ นั้น ยังไม่สามารถบรรจุเพื่อนำมาพิจารณา ในคราวเดียวกันได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องการเงิน ตามเนื้อหาใน ม. ๑๒ ที่เขียนว่า "ต้องได้รับเงิน อุดหนุนจากรัฐบาลในการทำประชามติ" จึงต้องส่งให้รัฐบาลให้การรับรอง ซึ่งสภามิได้นิ่งนอนใจได้รีบส่ง ร่างพ.ร.บ.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไปให้รัฐบาล แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ พ.ย. ๖๓ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการ ให้ความเห็นจากทางรัฐบาล ดังนั้นในวันพรุ่งนี้จึงจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... เพียงฉบับเดียว คือ ฉบับที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ เรื่องด่วนที่ ๒ คือ ญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อที่ ๓๑ ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ (๒) ที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ ผลการพิจารณาจะเป็น อย่างไร ขึ้นกับความเห็นของที่ประชุม หากที่ประชุมลงมติเห็นชอบ ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จากนั้น จะเป็นการพิจารณา เรื่องด่วนที่ ๓ คือ ร่างความตกลงและร่างหนังสือเพื่อขอความเห็นชอบ จากรัฐสภารวม ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ร่างความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย ตามมาตรา ๒๘ ของความตกลงทั่วไปว่าด้วย ภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) ๑๙๙๔ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อผูกพันสำหรับสินค้าที่มีโควตาภาษี ในตารางข้อผูกพันของสหภาพยุโรป อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของ สหราชอาณาจักร (๒) ร่างหนังสือจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรถึงรัฐบาลแห่งประเทศไทย (๓) ร่างหนังสือจากรัฐบาลแห่งประเทศไทยถึงรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งจะพิจารณาพร้อมในคราวเดียวกัน จึงขอแจ้งความคืบหน้าและขอให้ประชาชนได้ติดตามการประชุม ร่วมกันของรัฐสภา เพื่อจะได้รับทราบความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ
|