เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๒๐.๐๐ ๒๓.๐๐ นาฬิกา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ ความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของยุวสตรี (Young womens political participation and leadership) จัดโดยสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union - IPU) ร่วมกับสำนักงานผู้แทน พิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านเยาวชน (Office of the United Nations Secretary Generals Envoy on Youth OSGEY) โดยมีนายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา นางสาว Jayathma Wickramanayake ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านเยาวชน นางสาว Phumzile Mlambo-Ngcuka ผู้อำนวยการบริหาร UN-Women ตลอดจนผู้ดำรงตำแหน่งในสหภาพรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ รัฐสภาทั่วโลกรวมกว่า ๗๕ คนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีนางสาว Ana Saldarriaga จาก World Economic Forum เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการสัมมนาครั้งนี้แบ่งการอภิปรายออกเป็น ๓ ช่วง ได้แก่ การเสริมสร้างขีดความสามารถและระดมเ สียงสนับสนุน การรณรงค์หาเสียงและเลือกตั้ง และการดำรงตำแหน่งและสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง สรุปได้ โดยสังเขป ดังนี้ ๑. การขจัดภาพลักษณ์เหมารวมทางเพศ (Stereotype) ที่มีต่อสตรี การยุติความรุนแรง/การคุกคามต่อสตรี ทั้งในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการดำเนินชีวิตบนโลกออนไลน์ โดยเรียกร้องการสนับสนุนระหว่างสตรีด้วยกันของสตรีทั่วโลก ๒. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างรัฐสภาทั่วโลกเพื่อส่งเสริมบทบาทและเพิ่มสัดส่วนสตรี ในการเมือง เช่น การกำหนดโควตาในรัฐสภาและพรรคการเมือง การกำหนดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เท่ากับ หรือใกล้เคียงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงการเคลื่อนไหวของสตรี เป็นต้น ๓. การแปลงเจตจำนงทางการเมืองไปสู่การปฏิบัติ เช่น การอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ ๕ ว่าด้วยสตรี การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการปักกิ่งและข้อมติ IPU ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในกระบวนการประชาธิปไตย ตลอดจนการนำฐาน ข้อมูล/รายงานการศึกษาของ IPU ไปใช้ประโยชน์ ๔. การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี เช่น ความกล้าในการผลักดันตนเองเข้าสู่เส้นทางการเมือง โครงการ พี่สอนน้อง (Mentorship) ในหมู่สมาชิกรัฐสภาสตรี เป็นต้น ในการนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่จะ ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยยกตัวอย่างประเทศไทยว่าเป็นสังคมที่ให้ความเคารพกับผู้ที่มีอาวุโสกว่า และวัฒนธรรมลักษณะนี้อาจเป็นอุปสรรคที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง เนื่องจาก อาจถูกมองว่ายังขาดประสบการณ์และความรู้ความสามารถ นอกจากนั้นหากคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นผู้หญิง จะเกิดภาพลักษณ์เหมารวมทางเพศและทัศนคติที่มองว่า นักการเมืองชายมีความสามารถมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาของไทย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการก้าวเข้าสู่การเป็นนักการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยมีผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอายุน้อยที่สุดที่อายุ ๒๕ ปี และเป็นสตรีด้วย และจากตัวเลขผู้ได้รับ เลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด มีจำนวนยุวสมาชิกรัฐสภา (สมาชิกรัฐสภาผู้มีอายุน้อยกว่า ๔๕ ปี) เป็นที่น่าพอใจอยู่จำนวนทั้งสิ้น ๑๑๙ คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น ๕๐๐ คน คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ ๒๓. ๘ หรือ ๑ ใน ๓ ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนยุวสมาชิกรัฐสภาของไทย ขณะนี้ถือว่าไม่ได้ห่างจากค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ร้อยละ ๒๘.๑ ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมเริ่มให้การ ยอมรับในความรู้ความสามารถของนักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ และเห็นว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ ต่อไปในอนาคต เครดิต : ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|