FONTSIZE
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร
น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภาสัมมนาออนไลน์ทาง Webinar เรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) - สิ่งท้าทายและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดของภาครัฐสภา”

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 18 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2563

        เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๓๐ - ๒๑.๐๐ นาฬิกา 
ณ ห้องประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ 
ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ
สมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของสหภาพรัฐสภา (IPU Advisory 
Group on Health – AGH) ได้เป็นผู้นำเสนอประสบการณ์ของประเทศไทย 
(Country Presentation) ในบริบทผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อหลักประกัน
สุขภาพถ้วนหน้า ในการสัมมนาออนไลน์ทาง Webinar เรื่อง “หลักประกันสุขภาพ
ถ้วนหน้าในช่วงการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) 
– สิ่งท้าทายและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดของภาครัฐสภา” (Universal Health Coverage 
in times of COVID-19 – Parliamentary best practices and challenges) 
ในรูปแบบการประชุมเสมือนจริง (Virtual Meeting)
        ซึ่งวัตถุประสงค์ของการสัมมนาออนไลน์ผ่าน Webinar นี้ เป็นการประเมิน
ความก้าวหน้าในการบรรลุ UHC ของรัฐสภาประเทศต่าง ๆ และสิ่งท้าทาย
ที่ประสบร่วมกันจากการเร่งดำเนินการนี้ ทั้งนี้ จากการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 
หัวข้อที่จะอภิปรายจึงจะได้กล่าวถึงวิธีการในการให้ความสำคัญกับ UHC 
ในการตอบสนองต่อ COVID-19 และการเยียวยาเป็นลำดับต้น ๆ รวมทั้ง
ยกตัวอย่างถึงวิธีการที่ UHC จะสนับสนุนการรับมือและการเตรียมการ
ในเหตุฉุกเฉิน ในการนี้ น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้นำเสนอประสบการณ์
ของประเทศไทย โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๓ ส่วน คือส่วนที่หนึ่ง 
ภาพรวมของหลักประกันสุขภาพของไทยโดยสังเขปว่า ประเทศไทย
ได้มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ รู้จักกัน
ในชื่อโครงการ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” โดยปัจจุบันได้กลายมาเป็น
วิธีปฏิบัติที่ดีที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและ
ลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน โดยการประกันสุขภาพของไทยแบ่ง
ออกได้ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ สิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
สิทธิประกันสังคมสำหรับสมาชิกประกันสังคมที่เป็นลูกจ้างสถานประกอบ
การและผู้ประกันตน และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม
ประชากรทุกคนที่ไม่เข้าเกณฑ์สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการและ
สิทธิประกันสังคม ส่วนที่สอง หลักประกันสุขภาพของไทยในช่วง
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งประเทศไทย
เป็นประเทศแรกนอกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 
โดยพบผู้ติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ ๑๓ ม.ค.๖๓ จากการเริ่มตรวจคัดกรอง 
แต่แรกเริ่ม ณ ท่าอากาศยาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงสามารถควบคุมการ
ระบาดได้เป็นอย่างดี โดย ณ วันที่ ๑๗ พ.ย. ๖๓ ประเทศไทยมีตัวเลข
ผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน ๓,๘๗๘ คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ๙๔ คน 
ส่วนจำนวนของผู้เสียชีวิตยังคงเป็น ๖๐ คน อย่างไรก็ดี ประเทศไทย
ใช้หลักการ ๓ ประการที่ทำให้หลักประกันสุขภาพในช่วงการระบาดของ
โควิด-19 ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นั่นคือ
(๑) ความเสมอภาค (Equity) ที่สร้างความมั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึง
การบริการด้านการรักษาพยาบาลที่สำคัญ 
(๒) ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) โดยการขับเคลื่อนเงินทุนในการ
ต้อสู้กับโรคติดเชื้อโควิด-19 
(๓) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Participation) ชุมชน และประชาชน 
       นอกจากนี้ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นพลังสำคัญในการ
ช่วยสนับสนุนการควบคุมการระบาดของโควิด-19   ได้อย่างประสบ
ผลสำเร็จจนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็น “วีรบุรุษผู้ปิดทอง
หลังพระ” (unsung heroes) และเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลาย ๆ ประเทศ 
ยิ่งกว่านั้น องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่ง  
ในสี่ประเทศที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินการที่ประสบความสำเร็จ 
โดยกระบวนการนี้เรียกว่า “การทบทวนร่วมระหว่างการปฏิบัติงานด้าน
สาธารณสุข เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย” 
(Joint Intra-Action Review – IAR) เพื่อระบุสิงที่ดำเนินการได้ผลดี
ในช่วงหกเดือนแรกของการระบาด รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะวิธีที่ประเทศ
จะดำเนินการปรับปรุงหรือเตรียมการรับมือกับการระบาดระลอกสอง
ในอนาคตได้อย่างไร ส่วนที่สาม บทบาทของรัฐสภาไทยในการสนับสนุน
และการปรับปรุงพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้นท่ามกลาง
วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอำนาจหลักของรัฐสภาคือ 
        - ด้านการออกกฎหมาย เมื่อปีที่แล้วรัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติ
ระบบสุขภาพปฐมภูมิเพื่อส่งเสริมการนำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กำหนดกลไกในการกำกับ
ดูแลการดูแลสุขภาพขั้นมูลฐานทั่วประเทศ และให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย 
ได้แก่ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม
       - ด้านการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะการจัดสรรรายจ่ายงบประมาณ
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ คิดเป็นร้อยละ ๔.๓๓ ของงบประมาณรายจ่ายของ
ประเทศทั้งหมด อีกทั้ง สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบพระราชกำหนด
เกี่ยวกับการกู้เงินจำนวน ๓ ฉบับ เพื่อเยียวยาโควิด-19 ได้แก่ 
(๑) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา 
และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ 
(๒) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ
ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ.๒๕๖๓  
(๓) พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคง
ทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๓
       - ด้านการตรวจสอบของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด ๓ ฉบับ 
เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบ
จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ สภาผู้แทนราษฎรด้วย

เครดิต : ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภา
ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562