วันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๑๕ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร
รับยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขกฎหมายประมงจาก นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
ตัวแทนกลุ่มผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขกฎหมายประมง และคณะ เพื่อผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. .... เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา สืบเนื่องจาก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้ บังคับจนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลากว่า ๕ ปี ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับ ผู้ประกอบการประมงทะเลของไทยเป็นอย่างมาก และได้สร้างความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจในภาคการประมง สังคม และทรัพยากรของประเทศ รวมทั้งไม่สามารถรักษาฟื้นฟูทรัพยากรประมง และสิ่งแวดล้อมให้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการขาดองค์ความรู้ ข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงประจักษ์
ในบริบทด้านการประมงทะเลของไทยอย่างรอบคอบ รอบด้าน และการละเลย
ในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล
และผู้ยกร่างกฎหมาย ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและอุปสรรค ที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในสิทธิของประชาชน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนส่งเสริมการทำการประมง อย่างรับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับ พันธกรณีระหว่างประเทศ ประชาชนในนาม "กลุ่มผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขกฎหมาย ประมง ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการประมงในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สงขลา และปัตตานี รวม ๓๙ คน จึงได้รวมตัวกันเพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ
เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งฉบับ โดยได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ....
เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นกฎหมายและ ใช้บังคับต่อไปด้าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล กล่าวภายหลัง รับรายชื่อว่า จะนำรายชื่อไปตรวจสอบความถูกต้องตามระเบียบ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จากนั้นจะส่งไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่ออีกครั้ง และเมื่อตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วกระทรวงมหาดไทยจะส่งรายชื่อกลับมา ยังสภา ซึ่งหากมีรายชื่อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ ๑๐,๐๐๐ รายชื่อ สภาจะส่งหนังสือกลับไปยังผู้เข้าชื่อทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสว่าจะมีคัดค้าน หรือไม่ จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาวินิจฉัย แล้วนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป |