เมื่อวันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ๓ คน ประกอบด้วย นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุม คณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา (Virtual extraordinary session of the IPU Governing Council) ครั้งที่ ๒๐๖ ผ่านระบบออนไลน์ เป็นวันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดย นาย Chen Goumin (สาธารณรัฐประชาชนจีน) รองประธาน IPU คนที่หนึ่ง ในฐานะรักษา การประธาน IPU ทำหน้าที่ประธานการประชุม และดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม ดังนี้ ๑. การกล่าวถ้อยแถลงเข้ารับตำแหน่งประธานสหภาพรัฐสภา (IPU) ลำดับที่ ๓๐ อย่างเป็น ทางการของนาย Duarte Pacheco สมาชิกรัฐสภาโปรตุเกส มีใจความสำคัญว่า การได้รับเลือกตั้ง ในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะร่วมกันของทุกคน ขอบคุณทุกความร่วมมือและการสนับสนุนของทุกฝ่าย เวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของมนุษยชาติที่ต้องร่วมกันเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ ผลกระทบจากโควิด-๑๙ และการก่อการร้ายอย่างเช่นที่เพิ่งเกิดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในการนี้จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วย IPU ถือเป็นตัวแทน ของการธำรงรักษาไว้ ซึ่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และการทูตของรัฐสภา เพื่อเผชิญกับ ความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะในปี ๒๐๒๐ เป็นตัวอย่างของความร่วมมือ รูปแบบใหม่และวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด-๑๙ ซึ่งต้องเรียนรู้ร่วมกันในการป้องกันและบรรเทา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น IPU จำเป็นจะต้องมุ่งมั่นและสร้าง การรับรู้ในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมในการตอบสนอง ต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนของประชาชน อาทิ ความยากจน การอพยพ ย้ายถิ่นฐาน การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้นผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจะเป็นรากฐาน สำคัญที่จะทำให้พวกเราเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพ รัฐสภาสตรี ประธานคณะกรรมาการบริหาร ยุวสมาชิกสหภาพรัฐสภา ผู้แทนของกลุ่ม ภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง ๖ กลุ่มของ IPU และสมาชิกในที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ และเลขาธิการ IPU ร่วมกันกล่าวแสดงความยินดีกับนาย Duarte Pacheco ประธาน IPU คนใหม่ ๒. รายงานของคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (IPU Committee on Human Rights of Parliamentarians) ในปี ๒๐๒๐ มีกรณีการละเมิด สิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกสมาชิกทั่วโลกที่อยู่ในการ พิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ จำนวน ๗๐ กรณี ในภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย แอฟริกา เอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาของการประชุมผ่านระบบ ออนไลน์ที่ประชุมจึงได้พิจารณารายละเอียดของแต่ละกรณีได้โดยสังเขปเท่านั้น ๓. ที่ประชุมรับรองกรอบเวลาการประชุมหลักของ IPU ในอนาคต ดังนี้ การประชุม สมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔๒ ณ นครเจนีวา ช่วงเวลาระหว่างเดือน พ.ค. มิ.ย. ๖๔ การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔๓ ณ กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา ระหว่างวันที่ ๖ ๑๐ พ.ย. ๖๔ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการเสนอตัวของประเทศอินโดนีเซียที่แสดง ความประสงค์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสหภาพรัฐสภา ในปี ๒๕๖๕ พร้อมกันนั้น ที่ประชุม ยังได้รับรองให้การประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๕ ภาคปกติ มีกำหนดจัดขึ้นในเดือน ก.ค. ๖๔ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อย่างไรก็ตาม สำนักงานเลขาธิการ IPU จะได้ ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์โควิด-๑๙ เพื่อรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ได้รับทราบและประเมินสถานการณ์เป็นระยะ นอกจากนั้น IPU จะใช้ประโยชน์ของความ ก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการจัดประชุมเสมือนจริง (Virtual meeting) สำหรับการประชุมอื่นๆ ของ IPU ที่จะเกิดขึ้นระหว่างปี ๒๕๖๓ จนถึงปี ๒๕๖๕ ๔. ที่ประชุมพิจารณาสมาชิกภาพใน IPU ของประเทศมาลี ซึ่งมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา IPU ได้ติดตามในกรณีนี้อย่างใกล้ชิด โดยรับทราบว่าขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของมาลีมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ และพร้อมสนับสนุนมาลี ให้คืนสู่วิถีทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ดังนั้น ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ จึงมีมติเห็นชอบ ให้คงสมาชิกภาพของรัฐสภามาลี และเห็นชอบให้ IPU ให้ความร่วมมือสนับสนุนรัฐสภา มาลีในช่วงเปลี่ยนผ่านให้สามารถฟื้นฟูประชาธิปไตยได้โดยเร็ว
เครดิตข่าว : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |