วันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๕๐ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ คนที่สอง ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.
พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก แถลงข่าว
เกี่ยวกับผลการศึกษาดูงานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก โดยลุ่มน้ำป่าสักนั้นมีที่ตั้งอยู่ ในเขตภาคกลางของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่บางส่วน ตอนบนของลุ่มน้ำอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต ๔ จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และ พระนครศรีอยุธยา
รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ ๓ จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ และพระนครศรีอยุธยา โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น ๑๕,๖๒๓.๔๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๓.๑๘ ของพื้นที่ประเทศ
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานแล้ว คณะอนุ กมธ. ได้มีข้อเสนอแนะ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำต่าง ๆ อาทิ ควรขุดลำน้ำให้ลึกและกว้างที่สุด เพื่อรองรับน้ำจากแม่น้ำโขง ควรผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปยังเขื่อนลำตะคอง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ จ.นครราชสีมา และจัดสรรงบประมาณในการ ขุดลอกหน้าดินเพื่อให้สามารถเพิ่มความจุของน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ตลอดจนควรก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อสูบน้ำ จากคลองชัยนาท ป่าสัก เข้าสู่พื้นที่เกษตร ตลอดจนควรปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มาผลักดันน้ำเค็มเพื่อไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้ามาถึงเขต อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และทำให้เกษตรกรในภาคกลางไม่สามารถนำน้ำ ไปใช้เพื่อการเกษตรได้
นอกจากนี้ ได้เสนอให้รัฐบาลสร้างเขื่อนประตูน้ำเพื่อกันน้ำทะเลหนุนสูง จำนวน ๔ จุด คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน (รายละเอียดตามเอกสารที่แนบ) |