FONTSIZE
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร
ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และคณะ แถลงข่าวสรุปผลการประชุมเพื่อประกอบรายงานร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 28 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2563

       วันศุกร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ 
อาคารรัฐสภา นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง 
พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และคณะ แถลงข่าว
สรุปผลการประชุมเพื่อประกอบรายงานร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร 
(ฉบับที่ ..)  พ.ศ. ....  เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยมีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
       ๑. การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นกรณีที่เปลี่ยนแนววิธีการจัดเก็บภาษีสำหรับ
ผู้ใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร
ในปัจจุบันกำหนดให้ประชาชนหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่
นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้บริการเหล่านี้ แต่พบว่าในทางปฏิบัตินั้นส่วนใหญ่   
ไม่มีการนำส่งภาษี ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. นี้ จึงได้กำหนดให้ผู้ให้บริการซึ่งเป็นนิติบุคคล
ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นหลักการที่
กฎหมายเดิมกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจและประชาชน 
ลดต้นทุนในการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยให้
สามารถจัดทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษี
มูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณปีละ ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญ 
คือ แนวทางในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย  ซึ่งจะต้องมีการออกกฎกระทรวง
ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์
ในการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีความชัดเจน รวมทั้งต้อง
ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
อย่างทั่วถึง
       ๒. หลักในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะมีการจัดเก็บภาษีจากสินค้าและการให้บริการ 
ดังนั้น คำนิยามของสินค้าและบริการจึงต้องมีความชัดเจน โดยในอดีตสินค้า คือ ทรัพย์สิน
ที่จับต้องได้ รวมถึงทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้  ส่วนคำว่าบริการจะมีความหมายกว้าง ๆ 
ว่าสิ่งที่ไม่ใช่สินค้า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่ต้องการ
ให้มีความสับสนในเรื่องของสินค้า โดยกฎหมายได้กำหนดคำนิยามในเรื่องบริการ
อิเล็กทรอนิกส์ไว้ในร่างมาตรา ๕ กล่าวคือ เมื่อกฎหมายนี้มีการบังคับใช้แล้วจะมีการ
จัดเก็บภาษีจากสินค้าและบริการ ๓ ประเภทหลัก คือ สินค้าทั่วไป บริการทั่วไป และ
บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่สับสนในการใช้บริการ
ทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้สินค้าและ
บริการทั่วไป จึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการจะแยกกลุ่มของการจัดเก็บภาษี
ให้มีความชัดเจน
       ๓. การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการวางรากฐานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ และจะนำไปสู่แนวคิดในการจัดเก็บภาษีรายได้
หรือยอดขายของผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไปในอนาคต รวมถึงเป็นการลดช่องว่าง
ความไม่เท่าเทียมกันในการเสียภาษีของผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทย และ
ต่างประเทศอีกด้วย
      ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 
และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน 
ซึ่งทางกรมสรรพากรยืนยันกับคณะ กมธ. ว่าสามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา
ดังกล่าวอย่างแน่นอน

download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562