วันพุธที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๒๐ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับยื่นหนังสือจาก นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนก ลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน เรื่อง ขอให้มีการติดตามตรวจสอบเพื่อให้เกิด การมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู การปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด สืบเนื่องมาจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบเหมือง ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการตรวจสอบและพิสูจน์การปนเปื้อนมลพิษหลายครั้ง และพบว่ามีการปนเปื้อน สารไซยาไนด์และโลหะหนักในดินและน้ำสูงเกินค่ามาตรฐาน ในระดับรุนแรงทุกครั้ง แต่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ กับเหมืองได้ ในขณะที่ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๔ ปี กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นประชาชนใน ๖ หมู่บ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมือง ได้เรียกร้อง ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา รวมถึงเรียกร้องให้หยุดการทำเหมือง และเพิกถอนประทานบัตรการทำเหมืองแร่ แต่ก็ไม่เป็นผลใด ๆ และยังถูกละเมิดสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง จากการบิดเบือนของกฎหมายและนโยบาย ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งรวมทั้งสิ้น ๒๗ คดี ดังนั้น เพื่อให้เกิด การฟื้นฟูขึ้นจริงอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อประชาชน หยุดความเสี่ยงทาง สุขภาพที่จะเกิดขึ้น จึงขอให้คณะ กมธ. ช่วยดำเนินการตรวจสอบและติดตามให้มีการ แก้ปัญหาดังกล่าว ดังนี้ ๑.ขอให้ตรวจสอบสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างรัฐบาล กับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอความเห็นให้ยกเลิกสัญญา พร้อมทั้ง เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ๒. ขอให้แผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดขอบเขตการฟื้นฟู โดยเน้นแผนฟื้นฟูของประชาชนเป็นหลัก ที่ครอบคลุมมิติสุขภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และ เศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ๓. ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอำนวยการเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและ ภายนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ๔. ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในระหว่างที่ยัง รอการฟื้นฟู เช่น ปัญหาสันเขื่อนกักเก็บกากแร่ทรุดตัว ปัญหาการรั่วไหลสารพิษจากบ่อกักเก็บ กากแร่หรือบริเวณอื่น ๆ ของเหมืองที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถล่ม รวมถึงการสำรวจการกระจายตัว ของสารไซยาไนด์และสารโลหะหนัก ในพื้นที่เกษตรกรรม และที่อาศัยของชุมชน โดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม คณะ กมธ. เพื่อพิจารณาต่อไป
|