วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว
ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายนัทธี ถิ่นสาคู รองประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว คนที่สอง พร้อมด้วย นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี และ นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ
โฆษกคณะกรรมาธิการ และคณะ ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้า
ของผลการดำเนินงานมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู
อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวจากวิกฤตการติดเชื้อไวรัสโควิด - ๑๙
ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
๑. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ของธนาคารออมสิน ซึ่งมีดอกเบี้ย ร้อยละ ๒ ในวงเงิน ๑๕,๐๐๐ ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว ๑๓๐ ราย วงเงิน ๔๘๔ ล้านบาท โดยรายชื่อผู้ประกอบการที่ประสงค์
ขอกู้ที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ส่งให้ธนาคารออมสิน
มีจำนวน ๓,๑๓๕ ราย คิดเป็น วงเงิน ๑๑,๔๐๗ ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มรายย่อย
ที่ไม่เข้าเกณฑ์ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน ๒,๐๒๕ ราย วงเงิน ๕,๐๕๕ ล้านบาท
และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำนวน ๙๘๐ ราย วงเงิน ๕,๖๐๐ ล้านบาท
ซึ่งธนาคารจะดำเนินการให้แล้วเสร็จและมีคำตอบที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการ
ภายในเดือน มิ.ย. นี้
๒. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ร่วมลงนามบันทึก ข้อตกลง (MOU) กับธนาคารออมสินและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการค้ำประกันการขอสินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan ของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในวงเงิน ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท โดยมีวงเงินสำรองไว้ พร้อมอนุมัติการค้ำประกันได้ทันทีหากได้รับการพิจารณาจากธนาคารออมสิน ผู้ให้สินเชื่อในขณะนี้ จำนวน ๓,๗๐๐ ล้านบาท และหากมีความต้องการค้ำประกัน เกินจากวงเงินนี้ทาง บสย. จะมีวงเงินในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ดำเนินการโดย บสย.เอง ในการรองรับการค้ำประกันสินเชื่อให้เป็นไปตาม ข้อตกลง โดยผู้ขอสินเชื่อจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในส่วนต้นทุนของกองทุน บสย. เพิ่มเติม
๓. กระทรวงการคลัง ได้มีแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่ม ที่มีประวัติหนี้เสีย (NPL) หรือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือจาก ช่องทางใด ๆ ได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นผู้ดำเนินงานหารือร่วมกับ กระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือพิจารณาหารูปแบบและวิธีการ ที่เหมาะสมในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีมาตรการ
ทางภาษีที่เป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย
๔. ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมาตรการทางด้านการเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการด้านการเงินช่วย SMEs สู้ภัยโควิด-๑๙ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย
เลื่อน และลดภาระการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการเพื่อ ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย อาทิ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน รวมทั้งการให้ สินเชื่อเพิ่มเติมโดยโครงสร้างสินเชื่อ soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของสนามบินภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - ๑๙
โดยขอให้เปิดใช้สนามบินตามปกติโดยเร็ว |