วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะ กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด และคณะ แถลงข่าวสรุปผลการพิจารณาศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า คณะ กมธ.ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีบริษัท สตาร์คฯ ที่มีการตกแต่งบัญชีและงบการเงินเพื่อใช้สำหรับการออกหุ้น STARK เพื่อเสนอขายให้กับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนจำนวนมาก อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 สำหรับการแต่งตั้งคณะอนุ กมธ.เพื่อให้การพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวมีความละเอียดรอบคอบ ที่ประชุมจึงมีมติตั้งคณะอนุ กมธ.ติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์คฯ โดยมอบหมายให้ นายดนุพร ปุณณกันต์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง เป็นประธานคณะอนุ กมธ. ส่วนผลการดำเนินงานของคณะอนุ กมธ.ได้พิจารณาศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คณะอนุ กมธ.มีข้อสังเกต ดังนี้
1. ผู้แทนสำนักงาน ก.ล.ต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่า ยังไม่ทราบว่า มีการปั่นหุ้นหรือไม่
2. ในการสอบสวนดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. เน้นแต่เส้นทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้กระทำความผิดกับผู้เกี่ยวข้อง หากไม่มีเส้นทางการเงินถึงกันก็จะพิจารณาว่าบุคคลเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งไม่น่าจะใช่วิธีการตรวจสอบทรัพย์สินในคดีฟอกเงิน ซึ่งข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีไม่ควรเน้นเรื่องไม่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกันเพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่าง ๆ ในคดีนี้ด้วย
3. หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. ควรเสริมสร้างศักยภาพในการประสานงานในการดำเนินคดีอาญา เพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด หรือติดตามเอาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในต่างประเทศมาดำเนินการในประเทศไทย
4. สำนักงาน ปปง. และกรมบังคับคดี ควรมีการบูรณาการในการดำเนินการกับทรัพย์สินที่แต่ละหน่วยงานมีการยึดและอายัดไว้ หรือในกระบวนงานดำเนินการกับทรัพย์สินที่แต่ละหน่วยงาน
5. พฤติกรรมของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน ก่อนที่จะเกิดผลกระทบทำให้ประชาชน ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับความเสียหายในวงกว้าง แต่เหตุใดหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่อาจทราบหรือล่วงรู้ได้เลยว่าความเสียหายกำลังจะเกิดขึ้น
6. หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีความล่าช้าในการดำเนินคดี ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด และยึด/อายัดทรัพย์สินได้ทันท่วงที
7. สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่มีมาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ไม่ได้มีการเฝ้าระวัง หรือติดตามพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด
8. การดำเนินการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนหนึ่งพบร่องรอยที่น่าเชื่อว่าอาจจะมีการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไม่ได้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของเงิน หรือทรัพย์สินใด ๆ มาสนับสนุนคำกล่าวอ้าง กล่าวคือ การเชื่อ และรับฟังในคำกล่าวอ้างของสำนักงาน ปปง. ว่าศิลปินนักร้องคนหนึ่ง ได้ใช้เงินส่วนตัว และเงินกู้จากประเทศสิงคโปร์ จำนวนเงิน 650 ล้านบาท มาซื้อหุ้นของบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) และอีกคนหนึ่ง (อดีตกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) ถือหุ้นไว้ โดยไม่มีการตรวจสอบที่มา หรือพยานหลักฐานแต่อย่างใด รวมทั้งการเสียภาษีของรายได้ของศิลปินนักร้อง และการกู้เงินเป็นจำนวนมากจากประเทศสิงคโปร์ ว่าเป็นไปได้อย่างไร สถาบันการเงิน หรือองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชนรายใดเป็นผู้ให้กู้เงิน ใช้ทรัพย์สินใด ของผู้ใดเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. แจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบ แต่ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่า ได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ ประการใด
9. สำนักงาน ปปง. แจ้งว่าพบข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรมทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องจากสถาบันการเงิน (ธนาคาร) ไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่คดีนี้มีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนหลายพันล้านบาท จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะไม่มีรายงานการทำธุรกรรมมายังสำนักงาน ปปง. จึงมีข้อสังเกตว่า สำนักงาน ปปง. ควรที่จะนำรายการเดินบัญชีของบริษัท สตาร์คฯ มาตรวจสอบเส้นทางการเงินอีกทางหนึ่ง และนำมาวิเคราะห์การทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรง เพราะไม่สามารถนำรายงานธุรกรรมที่ได้รับมาจากสถาบันการเงินหรือธนาคารวิเคราะห์การทำธุรกรรมได้ 10. กรณีการไม่ดำเนินคดีกรรมการในฐานะส่วนตัวหลายบริษัท มีการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวในฐานะนิติบุคคล ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงว่า กรรมการบางคนของบริษัทดังกล่าวถูกดำเนินคดีในคดีหลักแล้ว จึงไม่ต้องดำเนินคดีในกรณีดังกล่าวอีก ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องเพราะเป็นเรื่องของการกระทำที่อาจเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นข้อพิจารณาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ให้ความสำคัญในการมีความเห็นทางคดีในลักษณะเช่นนี้
11. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. ไม่ได้ดำเนินคดี หรือแจ้งข้อหาผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในข้อหาพยายาม หรือการสมคบ หรือการสนับสนุนการฟอกเงิน แม้ว่าข้อเท็จจริงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ในการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวต้องมีการเตรียมการในการกระทำความผิดมาเป็นอย่างดี แต่ไม่ได้มีการสอบสวนดำเนินคดีในพฤติกรรมของการกระทำความผิด หรือมีการดำเนินการกับทรัพย์สิน (การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน) ในลักษณะดังกล่าว
12. สำนักงาน ก.ล.ต. ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงิน กรณีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
13. การดำเนินการของสำนักงาน ก.ล.ต. มีการปกปิดข้อมูลและวิธีการทำงานมากเกินไป
14. การเสนอให้มีหุ้นกู้ก็ดี เป็นที่เข้าใจได้ว่า การซื้อหุ้นกู้จะไม่มีหลักประกัน แม้ว่าหุ้นกู้เป็นการกู้ยืมเงินที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม หากพิจารณาถึงลักษณะของการขายหุ้นกู้โดยให้ดอกเบี้ยอัตราที่สูงมีลักษณะเสมือนเป็นการกู้ยืมเงินจากประชาชน
15. ควรให้สำนักงาน ก.ล.ต. หรือผู้ตรวจสอบบัญชี มีหน้าที่และอำนาจเพิ่มเติม โดยการให้มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย
16. การเข้าซื้อหุ้นผ่านบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะของ Backdoor Listing ไม่ควรมี หรืออนุญาตให้มีการกระทำในลักษณะดังกล่าวได้
download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562