วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ แถลงข่าว ผลการประชุมคณะกมธ. ในวันนี้ (8 ส.ค. 67) เพื่อพิจารณา ผลกระทบของสินค้าและธุรกิจต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะปัญหาสินค้าต่างชาติราคาต่ำและการประกอบธุรกิจผ่าน Nominee(บ.ตัวแทน) โดยเชิญหน่วยงานมาร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า สถานการณ์และผลกระทบมีความรุนแรง
โดยพบว่า จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ใน 6 - 12 เดือนข้างหน้ามีมากถึง 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสินค้าและธุรกิจต่างชาติ โดยขณะนี้กำลังการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งลดต่ำกว่าร้อยละ 30 หรือ มีหลายโรงงานลดการทำงานลงจากจำนวน 3 กะ เหลือเพียงกะเดียว นอกจากนี้ใน 4 - 5 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนโรงงานปิดตัวลงมากถึง 111 โรงงานต่อเดือน แม้บางข้อมูลจะบอกว่ามีบริษัทเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องดูว่าที่เปิดใหม่ ใช้แรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติ ทั้งนี้ การไหลเข้าของสินค้าต่างชาติราคาต่ำ เช่น จากจีน รวมถึงการมีธุรกิจจากต่างชาติในรูปแบบ Nominee (บ.ตัวแทน) เกิดจากหลายปัจจัย เช่น กำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศผู้ส่งออก ฟรีวีซ่า สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ปัจจุบันครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้การมาของ Temu จะสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยยิ่งกว่าเดิม เพราะ เป็น b2c กล่าวคือส่งตรงจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค ชิ้นเดียวก็ขาย ทั้งนี้ ภาครัฐไม่ควรนิ่งนอนใจ จากข้อมูลผลประกอบการของ Temu ในต่างประเทศ ยอดขายเติบโตถึง 1200 % ต่อเดือน สามารถแย่ง Market share เอาชนะรายใหญ่ เช่น Aliexpress ได้ในไม่กี่เดือน ทั้งที่ Aliexpress ก็ขายถูกมาก ตอนนี้กำลังขยายไป offline ด้วย
คณะ กมธ.จึงขอเสนอแนะ ไปยังรัฐบาล ดังนี้ 1) รวบรวมหน่วยงานภาครัฐดูแลเรื่อง e-commerce ให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น 2) กำกับตรวจสอบคุณภาพ เช่น ฉลาก ทั้ง มอก. อย. โดยแพลตฟอร์มควรกำกับให้ผู้ค้าต้องแสดงฉลากโดยอัตโนมัติและตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ขอให้แพลตฟอร์มที่อยู่ในต่างประเทศต้องมีผู้แทนที่ถูกกฎหมาย (legal representative) ในประเทศไทย 4) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษี เช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร ควรศึกษาบทเรียนในต่างประเทศเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหา ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ควรดูเครื่องมือใหม่ ๆ หรือบทเรียนในต่างประเทศ เพื่อปรับมาตรการรับมือปัญหาอย่างเหมาะสม 5) ขณะเดียวกันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ควรมุ่งเป้าตรวจสอบบริษัทที่ดำเนินการโดย Nominee ผิดกฎหมาย โดยครอบคลุมบางสำนักบัญชี สำนักกฎหมาย ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินการจัดตั้งบริษัทเหล่านี้
ทั้งนี้ คณะ กมธ.จะติดตามเรื่องดังกล่าวต่อไป |