วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 15.40 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมด้วย นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกมธ. และนายสมคิด เชื้อคง โฆษกคณะ กมธ. แถลงข่าว ผลประชุมของคณะ กมธ. ว่า วันนี้ (25 ก.ค. 67) เป็นวันสุดท้ายของการประชุมคณะ กมธ.และพิจารณาแล้วเสร็จ และมีมติรับรองรายงานของที่ประชุมพร้อมนำเสนอต่อสภาในเร็ววัน โดยมีข้อสรุปสำคัญดังนี้ 1. ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองระหว่างปี 2548 จนถึงปัจจุบัน จะใช้รูปแบบคณะกรรมการพิจารณาว่าคดีใดควรนิรโทษกรรม และมีบัญชีแนบท้าย ว่ามีคดีใดบ้างที่จะนิรโทษกรรม ขณะเดียวกันมีบัญชีแนบท้ายเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาว่าคดีประเภทนี้เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ มีสาระสำคัญคือ ต้องมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 2. คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คือคดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อชีวิต มาตรา288 และมาตรา 289 ส่วนคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงไม่อยู่ในข่ายที่ได้รับนิรโทษกรรม 3. คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ที่ต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ซึ่ง คณะ กมธ. มีความคิดเห็น 3 ทาง อาทิ คดีตามมาตรา 110 และ ป.วิ อาญา มาตรา 112 คดีเหล่านี้ มีข้อคิดเห็นแบ่งเป็น3กลุ่มคือ 3.1 มิควรนิรโทษกรรม 3.2 ควรนิรโทษกรรม 3.3 นิรโทษกรรมแต่มีเงื่อนไข ให้คณะกรรมการพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่ คณะ กมธ. มีมติ ว่า ควรมีมาตรการในทางการบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เช่น การสั่งไม่ฟ้อง รวมทั้งมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมโดยเร็ว |