|
|
วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น 1.ยกเลิกมาตรา 279 2. เพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร และ 3. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ จากนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า พรรคก้าวไกลจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารให้กับทางประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา แม้ว่าทางรัฐบาลจะให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 - 2 ปี พรรคเห็นว่านอกเหนือจากการผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใดเกิดขึ้นโดยเร็วแล้วทางรัฐสภาเองควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนในลักษณะคู่ขนานกัน ใน และในสัปดาห์นี้ สว. ชุดใหม่ได้เข้ามารปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราชุดแรกซึ่งจะกลายมาเป็นภาระกิจแรกของ สว. ชุดใหม่ในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ยื่นเข้ามาเป็นชุดแรกนั้น เป็นร่างที่มุ่งเน้นไปที่การลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร ซึ่งมองว่าเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายทางการเมืองเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด โดยสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 3 ร่างด้วยกัน ร่างที่หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาล เนื่องจากมาตราดังกล่าวเป็นมาตราที่ทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่งดังกล่าวมีโอกาสโต้แย้งด้วยความชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ประกาศและคำสั่งละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพรรคก้าวไกลจะผลักดันการยกเลิกมาตรา 279 คู่ขนานไปกับการผลักดันกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อดำเนินการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช. ที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ในส่วนของ พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. พรรคได้เสนอเข้าสู่สภาตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ถูกตีความว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินจึงทำให้ต้องรอว่านายกรัฐมนตรีจะลงนามรับรองให้เข้าสภาหรือไม่ ซึ่งรอมาตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 66 แล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ร่างที่สอง เป็นการเพิ่มหมวดป้องกันรัฐประหาร เนื้อหาเป็นการเขียนบทบัญญัติเพิ่มหมวด 16 / 1 การป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งจะมีสาระสำคัญ 3 ส่วน (1)เติมพลังให้กับประชาชนทุกคนในการต่อต้านรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนทั่วไปหรือการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหยุดการอ้างคำสั่งของผู้บังคับ บัญชา แต่ให้มีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่วางแผนการยึดอำนาจจากพี่น้องประชาชน (2)เพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันการเมืองให้ร่วมกันปฏิเสธรัฐประหาร ปกป้องประชาธิปไตย (3)ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญ และทุกศาลรับรองการทำรัฐประหาร ห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมรัฐประหาร กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่สามารถฟ้องร้องผู้ก่อการรัฐประหารได้โดยปราศจากอายุความ การป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่มีผลบังคับใช้ไปโดยตลอดไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่ในอนาคต ภารกิจการป้องกันรัฐประหารจะดำเนินการเพียงแค่แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่ได้ พรรคก้าวไกลจะผลักดันหมวดการป้องกันรัฐประหารคู่ขนานกันไปกับการผลักดันกฎหมายปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน รณรงค์เพื่อให้สังคมทุกฝ่ายยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ร่างที่สาม เป็นร่างที่มีเนื้อหายกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติผ่านการยกเลิกมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศผ่านการยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การที่พรรคเสนอแก้ไขประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคไม่เห็นด้วยที่ประเทศจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นแผนในการบริหารประเทศเพียงแต่ต้องการจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศที่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติฉบับคสช. เนื่องจากเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปดังกล่าวขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเป็นแผนที่ถูกสร้างในยุครัฐประหาร และถูกคสช. เข้ามากำกับควบคุมในทุกขั้นตอน นอกจากนี้แผนปฏิรูปประเทศฉบับ คสช. ยังขาดความยืดหยุ่น การบรรจุยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญอาจจะนำไปสู่การขยายตัวของรัฐราชการ แทนที่จะเป็นยุทธศาสตร์และแผนที่มาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาออกแบบตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ได้รับอาณัติจากประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศดังกล่าวเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง เพราะอาจเป็นการเปิดช่องให้บางฝ่ายใช้ช่องทางขององค์กรอิสระลงโทษหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้ง ด้วยเหตุผลว่าหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ หลังจากนี้หวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมและมีการเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสว.ชุดใหม่ จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อเป็นการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร และเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญเร่งด่วนคู่ขนานกันไป เพื่อผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว |
|
|
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
|
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า |
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562
|
|
|
|
|
|
|