เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 - 15.45 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... เข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ การเสริมสร้างศักยภาพฝ่ายนิติบัญญัติในการตอบสนองต่อการจัดการมลพิษทางอากาศ (Strengthening the legislative response to air pollution Capacity-building dialogue with the Ad-hoc Committee on Clean Air Act in Thailand) ร่วมกับสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) โดยมีสมาชิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวนรวม 7 คน เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นายปรเมษฐ์ จินา รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า นายรวี เล็กอุทัย เลขานุการคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ นางสาววีณาริน ลุลิตานนท์ รศ.ศันสนีย์ เอื้อพันธ์วิริยะกุล และนายสุวิทย์ มังคละ กรรมาธิการ โดยกิจกรรมเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 หัวข้อ Understanding the latest trends, challenges and opportunities for addressing air pollution through legislation โดยมี Ms. Valentina Ricca ผู้ช่วยฝ่ายกฎหมาย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) และ Mr. Tom Bannister ที่ปรึกษาของ UNEP เป็นผู้นำเสนอ ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการกับมลพิษทางอากาศผ่านกฎหมายจากทั่วทุกมุมโลกโดยเน้นย้ำถึงสิทธิในอากาศบริสุทธิ์ในฐานะสิทธิมนุษยชน ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริม การควบคุม และการจัดการอากาศบริสุทธิ์ผ่านกฎหมาย บริบทข้ามพรมแดน และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับอากาศสะอาด
ช่วงที่ 2 หัวข้อ Accelerating action on air pollution for health โดยมี Ms. Heather Adair-Rohani รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุณภาพอากาศ พลังงาน และสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เป็นผู้นำเสนอ โดยได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการปกป้องอากาศและสภาพแวดล้อม เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมถึงความพยายามทางสังคมในการร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีเพื่อลดมลพิษทางอากาศในมิติด้านสุขภาพ
และช่วงที่ 3 หัวข้อ Mapping the way forward for clean air in Thailand โดยมี รศ.จารุประภา รักพงษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการในช่วงการอภิปราย
ในการนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น พร้อมทั้ง ตั้งคำถามต่อผู้เชี่ยวชาญจาก UNEP และ WHO ในหลายมิติ อาทิ แนวโน้มและการพัฒนาล่าสุดเกี่ยวกับความคิดริเริ่ม แนวทางพัฒนาการจัดการอากาศสะอาด รวมถึงความท้าทายของมวลมนุษยชาติในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ความพยายามขององค์กรระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหา และการแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีจากนานาประเทศเกี่ยวกับการผ่านกฎหมายและนโยบายด้านอากาศสะอาดเพื่ออนาคต
เครดิต : ข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |