วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกมธ. การสาธารณสุข คนที่หนึ่งคณะ และคณะ รับเรื่องร้องเรียนจาก น.ส.ลินินา พุทธิธาร ตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้อง ผู้ก่อตั้งโครงการเซฟโซนโปรเจ็กท์ไทยแลนด์ เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดทางเพศ ผู้ร่วมก่อตั้งและดำเนินรายการวิทย์แคสต์ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก อาจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องขอเรียกร้องให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษา พร้อมเสนอแนะ 3 แนวทางเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้รับบริการทางสุขภาพจิต กลุ่มผู้เรียกร้องขอเสนอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสุขภาพจิต โดยเฉพาะในส่วนของจิตวิทยาการปรึกษาเนื่องจากในปัจจุบันการเข้ารับบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังขาดมาตรฐานที่จะช่วยคุ้มครองความปลอดภัย เช่น มีกรณีนักจิตวิทยาการปรึกษาล่วงละเมิดทางเพศผู้รับบริการโดยอาศัยความไว้วางใจที่เกิดจากการประกอบอาชีพของตนและสภาวะเปราะบางของผู้รับบริการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ใช้ความมีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้รับบริการเพื่อตอบสนองความใคร่และประโยชน์ของตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้รับบริการทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ นอกเหนือจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณทางเพศแล้ว ยังพบกรณีที่นักจิตวิทยาใช้ทักษะทางวิชาชีพแสวงหาผลประโยชน์ในด้านการเงิน การบงการทางจิตวิทยาให้ทำสิ่งอันตราย หรือการที่ทักษะวิชาชีพของนักจิตวิทยานั้นไม่ได้มาตรฐานและทำให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้นปริกษา จากการศึกษาเปรียบเทียบกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตในหลายประเทศ มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายและจริยธรรมที่ชัดเจนสำหรับนักจิตวิทยาทุกสาขา รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อดำเนินการกับนักจิตวิทยาที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ประเทศไทยนังขาดมาตรการทางกฎหมายและแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน มีช่องว่างทางกฎหมายในการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้รับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษา เนื่องจากผู้ให้บริการสาขานี้ยังไม่ได้รับการบรรจุรวมอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งต่างจากผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ส่งผลให้นักจิตวิทยาการปรึกษาส่วนหนึ่งประกอบโรคศิลปะโดยไม่มีใบอนุญาต และไม่มีการควบคุมมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนักจิตวิทยา และเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้รับบริการรายใหม่ด้วย ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1. พิจารณาบรรจุจิตวิทยาการปรึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีขอบเขตในการให้บริการทางสุขภาพจิตที่แตกต่างจากการประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก 2. ทบทวนและปรับปรุงระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2559 ให้ครอบคลุมจรรยาบรรณนักจิตวิทยาทุกสาขาที่ใช้ในระดับสากล โดยเฉพาะเรื่องการหาประโยชน์โดยมิชอบ การละเมิดทางเพศการใช้อำนาจในทางมิชอบต่อผู้รับบริการ และการบังคับให้ทำสิ่งอันตราย 3. พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการตรวจสอบกรณีการละเมิดกฎหมายและจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาทุกสาขาพร้อมทั้งขอเสนอให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มผู้เรียกร้องกรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สภาคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมจิตวิทยาคลินิกไทย สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทยสมาคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต หน่วยงานหรือองค์กรด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมการปรับปรุงก ฎหมายและมาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางสุขภาพจิตในประเทศไทย เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อวิชาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิกรสาธารณสุขจะพิจารณาข้อเสนอนี้ด้วยความสำคัญ
น.ส.สิริลภัส กองตระการ โฆษกคณะ กมธ. กล่าวว่า ในปัจจุบันคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกรุ่นสามารถมีปัญหาสุขภาพจิตได้ ในขณะที่ในวัยทำงานมีภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลที่สูงมาก สิ่งที่ประเทศไทยกำลังขาดคือการเข้าถึงการรักษา และการเข้าถึงการบริการ แม้ว่าจะมีสิทธิ์แต่คนไข้มักจะกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐแต่ถ้ามีกำลังมากพอจะเลือกเข้ารับบริการในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน การรักษาด้านสุขภาพจิตมีหลายวิธี เช่น การรับคำปรึกษา การทำกิจกรรมบำบัด สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ในฐานะที่ตนขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจิตมาโดยตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ เพราะคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีบาดแผลทางใจอยู่แล้วการที่โดนกระทำแบบนี้จากคนที่เรียกว่าตนเองเป็นผู้ให้คำปรึกษา แต่กลับสร้างบาดแผลที่เป็นการขยี้แผลเดิมให้รุนแรงและเสียหายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อาการของผู้ที่จะเห็นแสงสว่างในการรักษาดำดิ่งลงไปจนทำให้มีอาการหนักมากขึ้น จนอาจทำให้บุคคลคนหนึ่งไม่สามารถต่อสู้ไหวและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
สำหรับประเด็นข้อเสนอทึ่ทางกลุ่มนำมาให้ในวันนี้ จะนำเข้าสู่การประชุมโดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถือว่าผิดวินัยร้ายแรงอย่างมากควรที่จะต้องมีการตรวจสอบ ในฐานะที่ตัวเองเคยผ่านเรื่องนี้มาเหมือนกันแต่ไม่เคยโดนกระทำซ้ำจากการบำบัด เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ตนจะพยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และจะเป็นกระบอกเสียงแทนทุกคน |