ทั้งนี้ Golden Boy ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (ผู้สร้างปราสาทหินพิมาย มีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด) ถูกขุดพบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เป็นเครื่องเชื่อมร้อยให้เราเห็นวิวัฒนาการของบ้านเมือง และวัฒนธรมร่วมระหว่างพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันถูกแบ่งพรมแดนออกเป็นประเทศไทยและเขมรได้อย่างดี โดย Golden Boy สามารถนำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เห็นการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตั้งแต่บ้านยางโปงสะเดา ปราสาทหินพิมายปราสาทพนมรุ้ง เขาปลายบัด เขาอังคาร ปราสาทเมืองต่ำ ศรีเทพ ไปจนถึงปราสาทเบ็งเมียเลีย ปราสาท
บาปวน ปราสาทนครวัด ในกัมพูชา ล้วนเชื่อมโยงกันหมด
นอกจากนี้ Golden Boy เป็นฑูตสันถวไมตรีชั้นดีที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และยังจะเป็นตัวเอกในการเดินเรื่องให้รัฐบาลนำวัฒนธรรมมาส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมผ่านการท่องเที่ยวและอื่น ๆ ชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำ Golden Boy กลับจ.บุรีรัมย์เพื่อไปสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น
นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ยินดีรับเรื่องร้องเรียนที่พี่น้องประชาชนแสดงจุดยืนว่าวัตถุโบราณที่ได้คืนมาจากพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา และมั่นใจว่า Golden Boy เป็นวัตถุโบราณที่ล้ำค่าและมีความสมบูรณ์ แสดงออกถึงลักษณะศิลปะในยุคนั้นอย่างชัดเจน กมธ.ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจาก Golden Boy จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในโซนอีสานใต้ ไม่ว่าจะเป็นจ.โคราชไปจนถึงจ.บุรีรัมย์ ที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม อันเป็นต้นทุนของการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถมีโครงการสนับสนุน และมีตัวชี้วัดได้หลากหลายมิติ วัตถุโบราณล้ำค่านี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสามารถไปต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และตอกย้ำจุดยืนรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ได้สืบต่อกันมานาน รวมถึงเป็นจุดที่ผู้คนทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็สามารถเห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีหลักฐานมีวัตถุพยานแล้ว ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยส่งเสียงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุโบราณ ประติมากรรมอันล้ำค่านี้ ว่าผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดซึ่งอยู่ที่พื้นที่นั้นส่งเสียงไปยังรัฐบาล ให้พิจารณาว่าการจะศึกษาวัตถุโบราณชิ้นนี้ พี่น้องประชาชนขอเรียกร้องให้มาศึกษาที่จังหวัดพื้นถิ่น ในถิ่นที่วัตถุโบราณนี้เคยอยู่ในย่านนี้ อันจะเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป