ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร
ประธานคณะ กมธ. ที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกฤช ศิลปชัย รองประธานคณะ กมธ. คนที่เจ็ด และนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการคณะกมธ. ร่วมกันรับยื่นข้อเสนอ จากนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ตัวแทนกลุ่มชาวกะเหรี่ยงชุมชนห้วยกระซู่ห้วยหินเพลิง และสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี

๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 12 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2567

วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกฤช ศิลปชัย รองประธานคณะ กมธ. คนที่เจ็ด และนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการคณะกมธ. ร่วมกันรับยื่นข้อเสนอจากนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ตัวแทนกลุ่มชาวกะเหรี่ยงชุมชนห้วยกระซู่ ห้วยหินเพลิง และสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นชาวกระเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กำลังจะประกาศใช้

เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการกำหนดว่า ชาวบ้านจะต้องทำกินตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นการให้สิทธิที่อยู่อาศัยและทำกินชั่วคราว 20 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ และที่ดินที่ได้ต้องทำกินทุกแปลงอย่างต่อเนื่อง ห้ามละเว้นทำกินมากกว่า 1 ปี หากละเว้นจะเสียสิทธิ เงื่อนไขเช่นนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ในวิถีการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มดังกล่าว เมื่อทำกินไม่ได้เหลือทางออกอย่างเดียวคือต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งพบว่าเกิดผลเสียแก่ทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน มากกว่าการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนมีการพิสูจน์ด้วยการใช้ชีวิตมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษผ่านมานับ 100 ปีว่าสามารถรักษาป่าได้อุดมสมบูรณ์จนสามารถกลายเป็นมรดกโลกได้ นักวิชาการได้ทำการศึกษาในพื้นที่พบว่าวิถีไร่หมุนเวียนช่วยเก็บกักคาร์บอนและเพิ่มความสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดิน ผลพลอยได้อีกอย่างคือวิถีไร่หมุนเวียนจะไม่มีการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดินให้กับบุคคลภายนอกเพื่อเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นอย่างอื่น หากเทียบกับการจัดที่ดินทำกินให้ทำเกษตรแบบวิถีใหม่เกษตรเชิงเดี่ยวอย่างที่กฎหมายออกแบบให้เป็นไป แม้ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้สิทธิแก่ชาวบ้านที่เคยอยู่โดยเฉพาะในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมเพิ่มขึ้นในมาตรา 64 และมาตรา 65 โดยกำหนดว่ารับรองวิถีทำกินแบบดั้งเดิมหากเป็นไปเพื่อเลี้ยงชีพแม้จะกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติบ้างไม่ถือเป็นความผิด ไม่เอาโทษ และให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจการใช้ประโยชน์ตามวิถีของชาวบ้านที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น วิถีดั้งเดิมของชาติพันธ์ุ หรือวิถีใหม่ก็ตามต้องสำรวจข้อมูลให้เสร็จสิ้นภายใน 240 วัน ชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชนที่มาในวันนี้ได้ยื่นคำร้องไว้แล้วภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยแจ้งความประสงค์ว่าขอให้กันที่ดินบริเวณที่เคยทำไร่หมุนเวียนดั้งเดิมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่เศษ มาเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียน รวมทั้งเพิ่มเติมเรื่องเงื่อนไขที่จะให้สามารถใช้ประโยชน์ตามสมควร โดยไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นไปเพื่อการหาเลี้ยงชีพ แต่เมื่อยื่นไปแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าดำเนินการไม่ได้เนื่องจากร่าง พ.ร.ฎ.ใหม่ที่กำลังจะออกประกาศ คือ ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ไม่เปิดช่องให้ ทำให้ชาวบ้านต้องมายื่นเรื่องต่อคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาช่วยเหลือ ให้กรมอุทยานฯ พิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไขประเด็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เป็นการรับรองวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงตามวิถีเดิม เพราะเดิมกำหนดไว้เฉพาะให้สิทธิแก่ผู้ยากไร้ทั่วไป และเป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ที่ดินอุทยาน โครงการอนุรักษ์ไม่ควรมีแต่เรื่องให้สิทธิผู้ยากไร้อย่างเดียว แต่ควรให้สิทธิและคุ้มครองกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิมที่ทำกินตามวิถีเดิมควบคู่กัน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ชัดเจนคือรัฐกำลังจะออกระเบียบเกี่ยวกับการไม่เอาโทษในการใช้ประโยชน์ทรัพยากร หากใช้เพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงชีพตามปกติธุระ ควรเขียนให้ชัดเจนลงไปด้วยว่า "ปกติธุระ" ของชนเผ่าดั้งเดิม คือการทำไร่หมุนเวียน 
ด้านนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี กล่าวว่า คณะ กมธ. มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุหลายกลุ่ม ทั้งนี้ การประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา  กมธ. ได้เชิญกรมอุทยานฯ เข้ามานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำไร่หมุนเวียนของพี่น้องกะเหรี่ยงและชาติพันธ์ุ ซึ่งในที่ประชุมมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ โดยได้ข้อสรุปคือจะต้องดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ขณะนี้ กมธ.ได้ดำเนินการร่างหนังสือข้อเสนอแนะและปัญหาของประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งดำเนินการยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรมอุทยานฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขนิยามและรายละเอียดการทำไร่หมุนเวียนต่อไปขณะที่นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้จัดทำร่างกฏหมายเสร็จแล้ว และส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบ เมื่อวานนี้ได้รับทราบว่าคณะรัฐมนตรีให้ขยายระยะเวลาออกไปก่อน ดังนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในวิสัยของกรมอุทยานฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกาในการทบทวนร่างกฎหมาย ซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 
1) การพิจารณาการระบุคำว่า “ไร่หมุนเวียน” ไว้ด้วย เพื่อทำให้มีกฎหมายที่คุ้มครองพื้นที่ไร่หมุนเวียน แม้ว่าในกฎหมายลำดับรองจะระบุเอาไว้อยู่แต่ว่าใช้คำ “แปลงรวม” ซึ่งประชาชนกังวลว่าคำว่า“แปลงรวม” อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน เพราะไร่หมุนเวียนมีอัตลักษณ์เฉพาะและมีความมั่นคง หากเปลี่ยนจากไร่หมุนเวียนไปเป็นไร่ถาวรหรืออย่างอื่น อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง 
2) กรมอุทยานฯ ต้องดำเนินการสำรวจพื้นที่ไร่หมุนเวียนทั่วประเทศไทย ที่ยังมีปัญหาตกหล่นอยู่ กรมอุทยานฯ ต้องดำเนินการทบทวนเรื่องนี้ ซึ่ง กมธ. มีมติที่จะทำหนังสือไปยังกรมอุทยานฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทบทวนบรรจุคำว่า “ไร่หมุนเวียน” เอาไว้ในกฎหมายลำดับรองเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ุ
download download Download all images download


  • การรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร    download_icon

 แสดงทั้งหมด...
Untitled Document

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562