|
|
วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะ กมธ. การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับเรื่องเรียนและร้องทุกข์จาก นายชำนิจ ดีมาก ตัวแทนกลุ่มรักษ์ภูเขาไฟเขาคอก เรื่อง ขอคัดค้านการเข้าสำรวจแร่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาคอก) และขอให้ตรวจสอบการเพิกถอนป่าชุมชน (หนองไม้งาม เขาคอก) เพื่อการสัมปทานเหมืองแร่ ตามที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการออก อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ที่ 18/2564 ให้แก่ บริษัท ฉัตรศิลา 63 จำกัด และ 21/2564 ให้แก่ บริษัท เหมืองหินราชจำกัด เพื่อทำการสำรวจหินบะชอลต์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ ต.เขาคอก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 3,052 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่จะเข้าสำรวจ โดยวิธีการเจาะสำรวจได้ยื่นคำขออนุญาตให้เข้าไปศึกษาวิจัยทางวิชาการภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 ชาวบ้านบ้านเขาคอกได้รับการประชาสัมพันธ์จากผู้ใหญ่บ้านให้เข้าร่วมการทำประชาคมเพราะมีเจ้าหน้าที่จะมาชี้แจงเรื่องการขอเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานที่จะมาชี้แจง คือ กำนันตำบลเขาคอก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 15 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ และตัวแทนผู้ประกอบการ คือ บริษัทฉัตรศิลา 63 จำกัด และบริษัทเหมืองหินราช จำกัด ผู้รับอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ ในการประชุมมีการชี้แจงว่าจะมีการขอทำการขุดเจาะสำรวจแร่จำนวน 8 หลุม พื้นที่ 1,343 ไร่ บริษัท ผู้ประกอบการได้เริ่มดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจะขอทำเหมืองแร่มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 64 และจะมีอายุของอาชญาบัตรมีระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 โดยชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งหน่วยงานที่มาชี้แจงได้แจ้งว่าจะนิมนต์พระวัดป่าบำรุงธรรมซึ่งอยู่บนภูเขาคอกให้ย้ายลงมาจากเขาโดยให้เหตุผลว่าจะสร้างวัดให้ใหม่ จะให้ย้ายหมุดปักลงมาด้านล่างภูเขา ทั้งนี้ ขณะนี้ทางสำนักสงฆ์มีเหลือขั้นตอนการขออนุญาตผ่านทางกรมป่าไม้ซึ่งได้ยื่นเรื่องแล้วแต่กลับเงียบหาย เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ เหตุใดจึงมีการอนุญาตให้จะทำการย้ายหมุดลงมาได้อย่างง่ายดายทำเกิดข้อสงสัยว่าหน่วยงานรัฐได้มีการเอื้อประโยชน์เพื่อผู้ประกอบการสำรวจแร่ทำเหมืองอย่างชัดเจน ซึ่งในการประชุมดังกล่าวชาวบ้านทั้งหมดไม่เห็นด้วยให้มีการดำเนินการขุดเจาะสำรวจแร่ แต่หน่วยงานราชการกลับพยายามนำเสนอในทำนองว่าชาวบ้านเข้าใจและเห็นด้วยในการดำเนินการขุดเจาะสำรวจแร่ ชาวบ้านพยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับถูกเพิกเฉย ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 66 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีหนังสือแจ้งว่าได้ต่ออายุอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ให้กับทั้ง 2 บริษัท อีกจำนวน 6 ปี
ทั้งนี้ พื้นที่ป่าแห่งนี้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ชาวบ้านได้มีที่ทำกิน หาของป่าสมุนไพรเลี้ยงดูครอบครัวได้ สำหรับภูเขาคอกนั้น มีโบราณสถานที่เป็นปากปล่องภูเขาไฟลูกที่ 6 ของจังหวัด ในหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว และชุมชน ทั้งในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์ภูเขาไฟบ้านเขาคอก ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเขาคอก เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน และสร้างความเข้มแข็ง
ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายวิถีเกษตรท่องเที่ยวนิเวศธรรมชาติ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 63 ชาวบ้านทุกคนไม่เห็นด้วยและดำเนินการคัดค้านในทุกกรณีที่จะส่งผลเสียหายต่อภูเขาคอกลูกนี้ เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและวิถีชีวิตของคนในชุมชน อีกทั้งชาวบ้านยังได้ดำเนินการยื่นจัดทำโครงการป่าชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาคอกใหม่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา จึงต้องการทราบเหตุผลและข้อขัดข้องในการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากชาวบ้านต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังช่วยดูแลรักษาระบบนิเวศของชุมชน และได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป และปัจจุบัน หน่วยงานราชการปล่อยปละละเลยให้มีการตัดไม้จำนวนมากจากนายทุนเพื่อทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่า และ จะมีโครงการตัดถนนผ่านเขาคอก เพื่อเตรียมความพร้อมในการสัมปทานดังกล่าว และขอให้ตรวจสอบขั้นตอนการแอบยกเลิกป่าชุมชนอันเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ป่าชุมชนหนองไม้งาม - เขาคอก อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ โดยไม่ชอบตามกฎหมาย ตลอดจนขั้นตอนการเป็นสัมปทานเหมืองแร่ของป่าผืนนี้และบริเวณใกล้เคียงเนื่องจากมีการแอบยกเลิกป่าชุมชนของข้าราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านได้รวบรวมหลักฐานทำการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่เวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้วกลับมิได้คำตอบที่กระจ่างชัดว่า การยกเลิกป่าชุมขนแล้วส่งมอบเป็นสัมปทานให้นายทุนเหมืองกระทำการโดยถูกต้องคามกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ปล่อยปละให้ชาวบ้าน หรือกลุ่มคน บางกลุ่ม ได้เข้าไปตัดไม้หาประโยชน์จากการทำลายป่า ทำให้ป่าไม้ที่สวยงามกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว เมื่อชาวบ้านที่รวบรวมหลักฐานต่อสู้ ก็ไม่ได้รับความกระจ่าง และยังเห็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพิกเฉยต่อการกระทำของคนบางกลุ่มที่เข้าไปตัดและหาประโยชน์จากป่าไม้ตลอดเวลา ชาวบ้านไม่สามารถทนกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ จึงได้รวมตัวเดินทางมายื่นหนังสือต่อประธาน คณะ กมธ. ที่ดินฯ เพื่อขอความเป็นธรรม และเพื่อเป็นการปกป้องรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของแผ่นดิน
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี กล่าวว่าจะตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง โดยเรื่องดังกล่าวจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่คณะ กมธ. จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด และจะแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ร้องทราบต่อไป
|
|
|
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร : 0 2244 2500
e-Mail : webmaster@parliament.go.th
|
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ในหน้า |
ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562
|
|
|
|
|
|
|