วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน มอบหมายให้ นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่สอง รับยื่นหนังสือจากนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ประชาชนจังหวัดพิษณุโลก เรื่อง ขอให้พิจารณาปัญหาการเลือกตั้งซ่อมองค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์
เนื่องด้วยวันที่ 11 มี.ค. 67 นายอำเภอเมืองพิษณุโลก มีคำสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์ในขณะนั้น พ้นจากสมาชิกภาพ ส่งผลให้ตำแหน่งที่ดำรงอยู่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยอ้างผลคดีตามหมายศาล ต่อมาวันที่ 20 มี.ค.67 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบต.วัดจันทร์ ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งแทนตำเหน่งที่ว่าง ในวันที่ 5 พ.ค. 2567 โดยให้กรอบระยะเวลาสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 25 - 29 มี.ค. 67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่อดีตนายก อบต.วัดจันทร์ ได้ร้องต่อศาลปกครองเรื่อง ขอให้ยกเลิกคำสั่งพ้นสมาชิกภาพการดำรงตำแหน่งจากนายอำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งศาลปกครองดำเนินการรับคำร้องดังกล่าวไว้ จึงส่งผลให้ได้รับการคุ้มครองชั่วคราวและสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ วันที่ 3 พ.ค. 67 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำสั่งงดการเลือกตั้งก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งเพียงไม่ถึง 48 ชั่วโมง โดยคำประกาศแจ้งเพียงว่า ให้มีการงดการลงคะแนนไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ซึ่งทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมได้รับความเดือดร้อนในหลายด้านและต้องการความชัดเจนในมาตรฐานกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1. คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะมีการเลือกตั้งซ่อมอย่างไร 2. สถานะของผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงจะเป็นอย่างไร 3. ในกรณีที่มีคำสั่งขัดกัน ส่งผลให้ผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือแก้ปัญหาให้ประชาชน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร 4. จากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง นายอำเภอใช้อำนาจ โดยประมาทเลินเล่อหรือ ไม่ 5. ขอให้มีการหารือร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจถึงขอบเขตอำนาจ และความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้งทุกฝ่าย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต
นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กกต. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง และคงจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องหาความชัดเจน และเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการเมืองให้ดียิ่งขึ้น เป็นการถอดบทเรียนซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการทำหน้าที่ไปพร้อมกัน เมื่อเกิดการเลือกตั้งซ่อม เกิดการหาเสียงเกิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงแล้ว แต่กลับให้หยุดการหาเสียงและทุกอย่างเป็นสูญญากาศ ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
|